กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – คมนาคมระบุไทยต้องเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง รองรับการปรับโฉมระบบรางครั้งใหญ่ของประเทศ เผยเตรียมดันโปรเจคไทยเป็นศูนย์กลางประกอบรถไฟฟ้าในภูมิภาค เล็งจังหวัดโคราช-ขอนแก่นมีทำเลที่เหมาะสม
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานการประชุมเวิร์คชอป เรื่อง “Railway rolling stock maintenance and overhaul” ครั้งที่ 1 โดยนายแจน ลาร์ส คริสเตียน เชียร์ อุปทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน
นายไพรินทร์ กล่าวว่า การประชุมเวิร์คชอปดังกล่าว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านระบบราง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงสำคัญที่จะมีการพัฒนาระบบรางครั้งใหญ่ โดยใน 2-3 ปีข้างหน้าไทยก็จะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งให้บริการ จึงจำเป็นต้องเปิดรับเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเยอรมันถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพ นอกจากจะเป็นผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้าแล้วยังมีประสบการณ์ด้านการเดินรถที่สามารถถ่ายทอดให้ไทยเรียนรู้ได้
นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางให้ความสนใจมาให้ความรู้ฝึกอบรมให้กับบุคลากรไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญมาตั้งโรงงานประกอบรถไฟประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นญี่ปุ่น เยอรมนี ให้ความสนใจ เนื่องจากประเทศไทยมีโครงการจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในอนาคตประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคคงจะมีการลงทุนระบบรางมากขึ้น
หากมองความต้องการเฉพาะรถไฟในประเทศไทย ปัจจุบันมีการซื้อเข้ามาต่อเนื่องทุกปี จาก 5 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตุรกี เยอรมนี และอีกประมาณ 2 ปีจะมีโครงการรถไฟฟ้าที่พร้อมจะให้บริการประชาชนและทยอยเปิดให้บริการ ดังนั้น การตั้งโรงงานประกอบรถไฟ จึงมีตลาดรองรับ หากคำนวนเส้นทางแค่รถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ระยะทาง 500 กิโลเมตร ต้องใช้ตู้ขบวนรถไฟฟ้าอย่างน้อย 500 ขบวน หรือคิดเป็นตู้รถไฟฟ้าประมาณ 2,000 ตู้ มาให้บริการ นอกจากนี้ โรงงานผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ต่าง ๆ สำหรับรถไฟก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ สามารถป้อนให้กับโรงงานประกอบรถไฟฟ้าได้
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้า คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น เพราะทำเลดี ระบบการเดินทางสะดวก รวมถึงสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ สร้างความเจริญให้กับพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางมาทำงานในกรุงเทพ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้
ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส กล่าวว่า หากมีการตั้งโรงงานประกอบรถไฟในประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะรถไฟฟ้าหลายสายกำลังจะเสร็จ และระบบรางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการสูง แต่ทั้งนี้มองว่าจำนวนรถไฟกับการตั้งโรงงานประกอบจะคุ้มกับการลงทุนของผู้ประกอบการหรือไม่ เพราะจำนวนขบวนรถอาจไม่มากพอ หากเป็นโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟ เพื่อให้บริการ ผู้ประกอบการที่ให้บริการระบบรางเส้นทางต่าง ๆ น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า.-สำนักข่าวไทย