กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – กรมการขนส่งทางบกติดตามรถตู้อายุเกิน 10 ปีอย่างใกล้ชิด พร้อมเสริมรถทุกเส้นทาง รองรับการเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอ แนะผู้ประกอบการต้องการเปลี่ยนรถใหม่ติดต่อศูนย์บริการเบ็ดเสร็จรถตู้โดยสารประจำทาง
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เพื่อให้การติดตามและแก้ไขปัญหาการเดินรถตู้โดยสารที่จะครบกำหนดอายุ 10 ปี ไม่ให้ส่งผลกระทบผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะใน 20 เส้นทางที่มีจำนวนรถตู้หมดอายุการใช้งาน 487 คัน เบื้องต้นกรมการขนส่งทางบกได้ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถตู้โดยสารที่ให้บริการเส้นทางอื่นนอกเหนือจาก 20 เส้นทางดังกล่าวมาเสริมในเส้นทางที่มีรถตู้ไม่เพียงพอตามสัดส่วน พร้อมทั้งจัดรถโดยสารปรับอากาศ 65 คัน เพื่อสำรองให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารทั้ง 4 จุดทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, มีนบุรี ,รังสิต และจตุจักร ตั้งแต่เวลา 05.30 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกจึงได้จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ปัญหาและการสำรองรถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมประเมินสถานการณ์การเดินรถเพียงพออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีรถตู้โดยสารให้บริการเพียงพอและไม่มีผู้โดยสารตกค้าง อีกทั้งส่งเจ้าหน้าที่ตรวจการขนส่งทางบกติดตามสถานการณ์บริเวณจุดจอดรอขึ้นรถตู้โดยสาร และที่ศูนย์ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเดินรถมีเพียงพอกับผู้โดยสาร
นายพีระพล กล่าวต่อไปว่า การกำหนดอายุรถตู้โดยสารห้ามเกิน 10 ปี ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 8 /2551 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตามกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและรักษามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ เนื่องจากสภาพรถที่เก่าเครื่องอุปกรณ์ใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานมีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง และมีค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่ารถใหม่ทำให้เกิดความไม่คุ้มทุน และรถที่มีอายุเกิน 10 ปี บริษัทประกันภัยจะไม่รับทำประกันภัย ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และผู้โดยสารไม่ได้รับความคุ้มครอง
นอกจากนี้ รถที่มีอายุการใช้งานมากจะก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและเมื่อรถเสียทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดมากขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อจูงใจและลดผลกระทบของผู้ประกอบการ อาทิ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บขส., ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” และจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จรถตู้โดยสารประจำทาง ณ บริเวณอาคาร 3 ชั้น 1 อำนวยความสะดวกให้คำปรึกษาแนะนำกรณีรถตู้โดยสารประจำทางจะครบกำหนดอายุ 10 ปี และขั้นตอนการจดทะเบียนรถแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) เพื่อช่วยเหลือเจ้าของรถในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะทำการเปลี่ยนรถทดแทนรถคันเดิมที่หมดอายุให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย