ก.แรงงาน 3 ต.ค.-รมว.แรงงาน มอบเงินสิทธิประกันสังคมกว่า1.3 ล้านแก่ญาติแรงงานที่เสียชีวิตจากเหตุหอระฆังทรุด พร้อมกำชับนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบเงินให้แก่ทายาทของนายสุริยันต์ สายทอง อายุ 46 ปี ที่ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ซึ่งนายสุริยันต์เป็นลูกจ้างที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากเหตุเจดีย์เก่าแก่ภายในวัดพระยาทำ ซอยอรุณอมรินทร์ 15 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เศษวัสดุถล่มทับคนงานขณะกำลังซ่อมแซมเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเป็นค่าทำศพจำนวน 33,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 1,152,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพอีกจำนวน 211,299.89 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,396,299.89 บาท
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงวานนี้ (2 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานครพื้นที่ 6 (สรพ.6) ได้ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยแรงงานเขต11 ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงกับนายจ้างแล้ว ได้ข้อสรุปว่า นายจ้างบริษัท ฟีเนสส์ ซอยส์ เทสติ้ง จำกัด ให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงาน ที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิตร่างกาย โดยไม่ได้จัดให้มีคู่มือและขั้นตอนการทำงานให้ลูกจ้างทราบก่อนการทำงาน
สำหรับกรณีลูกจ้างเสียชีวิต 1 คน นายจ้างได้จัดการงานปลงศพให้และให้เงินเยียวยาครอบครัว 200,000 บาท พร้อมทั้งรับลูกชายผู้เสียชีวิต ทั้ง 2 คนเข้าทำงาน กรณีลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ 10 คน ขณะนี้ยังรับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช 4 คน เนื่องจากบาดเจ็บสาหัส นายจ้างได้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างทุกคน ขณะนี้ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว200,000 บาทและจ่ายเงินเยียวยาลูกจ้างทุกคน คนละ 3,000-30,000 บาท เป็นเงินประมาณ 165,000 บาท บริษัท ปรียะกิจ จำกัด ผู้รับเหมาชั้นต้น ได้จ่าย เงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต 100,000 บาท และมอบเงินเยียวยาลูกจ้างทุกคน คนละ 3,000 – 30,000 บาท รวม 265,000 บาท
ทั้งนี้ สรพ.6 พิจารณาแล้วเห็นว่านายจ้างและผู้รับเหมาชั้นต้น ซึ่งถือเป็นนายจ้างตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ กระทำความผิดตามมาตรา14 เนื่องจากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยแต่นายจ้างไม่ได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานและไม่ได้แจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนทราบก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงานการทำงานอันเป็นสาเหตุโดยตรงในการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างบาดเจ็บและเสียชีวิต มีโทษตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาทและจะมอบหมายนิติกรดำเนินคดีกับนายจ้างต่อไป ส่วนความผิดอื่นจะได้มอบหมายพนักงานตรวจความปลอดภัยดำเนินการ ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติต่อไป .-สำนักข่าวไทย