กทม.3 ต.ค.-ผอ.สสวท.แจงไม่จริง กรณี สสวท.เตรียมเลิกจ้างพิมพ์หนังสือเรียนวิทย์-คณิต-เทคโนโลยี กับองค์การค้าของ สกสค.เพราะมีหน้าที่เพียงจัดทำต้นฉบับหนังสือ และให้ลิขสิทธิ์ในการพิมพ์ แต่ไม่ได้จ้างพิมพ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่ากำไรและการตลาด เน้นหนังสือเรียนต้องพิมพ์เสร็จถึงมือนักเรียนทั้งประเทศทันใช้เปิดเทอม 62
นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรมว.ศึกษาธิการ เรื่องสสวท.เตรียมเลิกจ้างพิมพ์หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีกับองค์การค้าของ สกสค. และ สสวท. ไม่เคยหารือกับองค์การค้าฯ นั้น สสวท.ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อาจทำให้โรงเรียน สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดได้ เนื่องจาก สสวท.เป็นผู้จัดทำต้นฉบับหนังสือเรียนและมอบลิขสิทธิ์ให้กับหน่วยงานที่เหมาะสมพิมพ์เป็นหนังสือเรียน โดยสสวท.ไม่ได้เป็นผู้จ้างพิมพ์ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในค่าการตลาดและกำไร ขณะเดียวกัน สสวท. ได้มีการหารือกับองค์การค้าฯ มาโดยตลอด
นายชูกิจ กล่าวต่อไปว่า สสวท. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลิตสื่อและหนังสือเรียนคุณภาพ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายสูงสุดคือให้นักเรียนไทยได้รับหนังสือคุณภาพถึงมือทันเวลา ซึ่ง สสวท. มีบทบาทเป็นเพียงผู้ผลิตต้นฉบับ และให้ลิขสิทธิ์การพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือที่ได้คุณภาพและสามารถนำส่งถึงมือนักเรียนได้ทันเวลาการเปิดภาคเรียน
ดังนั้น ขอย้ำว่า สสวท.ไม่ได้เป็นผู้จ้างพิมพ์เป็นเพียงผู้ให้ลิขสิทธิ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกการพิมพ์ ค่าการตลาดและการจัดจำหน่ายแต่อย่างใด
นายชูกิจ กล่าวต่อไปอีกว่า ปีที่ผ่านมา สสวท.ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การค้าของ สกสค.และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำต้นฉบับ สสวท.ไปผลิตและจำหน่ายให้กับโรงเรียน และนักเรียนไทย โดยสสวท.ได้ให้ลิขสิทธิ์กับองค์การค้าฯในการนำต้นฉบับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ส่งให้ถึงมือนักเรียน คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของต้นฉบับทั้งหมดของ สสวท.ในขณะที่ให้ลิขสิทธิ์กับสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิชาเทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งผลที่ปรากฏในช่วงเทอมที่ผ่านมา พบว่านักเรียนได้รับหนังสือเรียนวิชาเทคโนโลยีก่อนเวลาเปิดเรียน ในขณะที่หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีความล่าช้าในการจัดส่งตั้งแต่ต้นเทอมจนถึงปลายเทอม ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนที่ยังไม่ได้หนังสือ
“บอร์ด สสวท.ได้รับข้อมูลการร้องเรียนจากครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย ถึงปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเรียนการสอนนักเรียนทั่วประเทศทำให้รู้สึกกังวลและพยายามจะแก้ปัญหาโดยการกระจายความเสี่ยงให้กับผู้มีความพร้อมมากกว่าในการส่งมอบหนังสือเรียนให้ถึงนักเรียน ซึ่ง สสวท. ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงงบประมาณจากการให้สำนักพิมพ์ใดเป็นผู้ดำเนินการแต่ต้อง การยึดผลประโยชน์สูงสุดของนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นสำคัญ บอร์ดฯจึงมีมติเมื่อ13 ก.ค.2561ให้ปรับสัดส่วนให้สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เล่มใหม่สำหรับชั้นมัธยมด้วย โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 30 โดยบอร์ด สสวท. ยังคงให้องค์การค้าฯ ได้รับสิทธิ์ในการพิมพ์ประมาณร้อยละ 70 ของต้นฉบับของ สสวท.ทั้งหมด” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมา สสวท.ได้หารือกับองค์การค้าฯ มาตลอด ซึ่งภายหลังการปรับเปลี่ยนผู้บริหารขององค์การค้าฯ อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้ และ2 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้เข้าหารือกับนายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัด ศธ.และนายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.ด้วยกัน โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมติบอร์ด สสวท.อธิบายให้เข้าใจว่าข้อมูลที่องค์การค้าฯออกข่าวไปก่อนหน้านั้น คลาดเคลื่อนบอร์ด สสวท.ไม่ได้ลดจำนวนต้นฉบับจำนวนมากอย่างที่เข้าใจและขอให้องค์การค้าฯยืนยันการรับลิขสิทธิ์ ร้อยละ70ของต้นฉบับไปดำเนินการและขอให้แจ้งกลับสสวท.ตามกำหนดเวลาเพื่อให้สามารถผลิตหนังสือเรียนคุณภาพเสร็จถึงมือนักเรียนทั้งประเทศทันใช้เมื่อเปิดภาคเรียนปี 2562 เพื่อจะนำข้อมูลเพื่อไปหารือและชี้แจงกับสังคมต่อไป .-สำนักข่าวไทย