อสมท 25 ก.ย.-คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ถือเป็นการเริ่มต้นของคดีล้มละลาย แต่ศาลจะยังไม่ได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที ลูกหนี้อาจยื่นคำขอประนอมหนี้ได้ หากไม่สำเร็จ ถึงตกเป็นบุคคลล้มละลาย
กรณีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ร.อ.สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก จนมีกระแสข่าวเรื่องการออกจากราชการ เนื่องจากเป็นบุคคลที่เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้าม และภายหลังกรมบังคับคดีออกมาเผยว่า ขอให้ “ร.อ.สมรักษ์” ไปประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ หลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พร้อมระบุขณะนี้ “ร.อ.สมรักษ์” ยังไม่ใช่บุคคลล้มละลาย จึงทำให้เกิดความสับสนว่า พิทักษ์ทรัพย์ กับ ล้มละลาย ต่างกันอย่างไร รวมถึงประนอมหนี้ คืออะไร
อ่านข่าว >> “สมรักษ์” ยังไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย
อ่านข่าว >> รองปลัดยธ.ชี้ถ้า “สมรักษ์ คำสิงห์”ล้มละลายต้องออกจากราชการ
พิทักษ์ทรัพย์ กับ ล้มละลาย ต่างกันอย่างไร
พิทักษ์ทรัพย์ คือ คำสั่งศาลในคดีล้มละลายให้พิทักษ์ทรัพย์สินของลูกหนี้ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ถือเป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ ตลอดจนทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้หมดอำนาจจัดการทรัพย์สินของตน และให้อำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
การล้มละลาย เกิดจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว คือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จึงเกิดกฎหมายล้มละลายขึ้นมาเพื่อจัดระบบให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกรายให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน หรือโดยส่วนเฉลี่ยที่เท่าเทียมกันตามสัดส่วนแห่งหนี้จากหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้รายนั้นๆ ในคดีล้มละลายเพื่อที่จะทราบว่าลูกหนี้คดีนี้มีเจ้าหนี้อยู่กี่ราย เป็นจำนวนหนี้เท่าใด กฎหมายจึงกำหนดให้ต้องมีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วถือว่าเป็นการเริ่มต้นของคดีล้มละลาย ซึ่งศาลจะยังไม่ได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที ทำให้ลูกหนี้ที่รับราชการยังไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการ และยังคงรับราชการต่อไปได้จนกว่าศาลจะพิพากษาให้ล้มละลาย เช่น กรณีศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สิน “สมรักษ์ คำสิงห์” อดีตนักมวยทีมชาติ จึงยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย และรับราชการต่อไปได้
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน 2 เดือน เพื่อลูกหนี้จะได้ทราบว่าตนเองมีหนี้สินเท่าใด หากต้องการจะจัดการกับหนี้สินดังกล่าวควรจะทำอย่างไร เช่น อาจจะยื่นคำขอประนอมหนี้ตามจำนวนที่คิดว่าจะสามารถชำระแก่เจ้าหนี้ได้ หรือหากไม่สามารถจะประนอมหนี้ได้ ก็ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายโดยคำพิพากษาของศาล (การประนอมหนี้ทำได้ทั้งก่อนล้มละลายและหลังล้มละลาย)
ขอประนอมหนี้
ลูกหนี้อาจยื่นคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินหรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้ ซึ่งคำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอนั้นหรือไม่ และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้แล้วก็ยังต้องให้ศาลเห็นชอบกับคำขอประนอมหนี้นั้นอีกครั้งหนึ่ง
หากศาลไม่เห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ข้อจำกัดสิทธิหน้าที่ของลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
1. ห้ามกระทำการใดๆ เดี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน เว้นแต่กระทำตามคำสั่ง หรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
2. ห้ามดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน
3. เดินทางออกนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
4. รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไปต้องแจ้งให้ทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือตกเป็นบุคคลล้มละลาย
ข้อมูลจาก สำนักงานคดีล้มละลาย, ราชกิจจานุเบกษา