เมืองทองธานี 23 ก.ย. – สนข.ยืนยันเดินหน้าพัฒนาตั๋วร่วม – ด่านค่าผ่านทางด่วนระยะที่ 2 ปีหน้า พร้อมเชื่อมรถเมล์ ขสมก.-แอร์พอร์ตลิงค์ ปลายปีนี้
นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักนโยบายและแผนการ ขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังร่วมงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ว่า ปีนี้ สนข.ได้ร่วมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบตั๋วร่วมภายในงาน พร้อมยืนยันปีหน้าระบบตั๋วร่วมของโครงข่ายรถไฟฟ้าในไทยจะก้าวสู่ระยะที่ 2 ซึ่งวิวัฒนาการตั๋วโดยสาร รถไฟฟ้าในไทยเริ่มจากรถไฟฟ้าแต่ละระบบออกตั๋วโดยสารกันเอง และปีนี้เมื่อมีระบบตั๋วร่วมเกิดขึ้นมีการใช้ตั๋วใบเดียวสามารถเชื่อมต่อได้ตามที่เห็นการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสีน้ำเงินและสีม่วง และกำลังจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถเมล์ ขสมก.ปลายปีนี้
สำหรับระยะ 2 จะมีลักษณะใช้บัตรอะไรก็ได้ที่ผู้เดินทางมี เช่น เอทีเอ็ม บัตรเครดิต มาใช้เป็นบัตรตั๋วร่วมในการเดินทาง ก็จะสามารถเพิ่มความสะดวกให้ผู้เดินทางและจำนวนผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องตั๋วร่วมในต่างประเทศก้าวหน้าไปมากพัฒนาไปสู่ไม่ต้องใช้บัตรเลย แต่ใช้การบันทึกอัตลักษณ์ของบุคคลที่เดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าแทน
นอกจากนี้ ปี 2562 สนข.จะเดินหน้าศึกษาพัฒนาระบบทางด่วนที่ปัจจุบันมีการนำแนวคิดของระบบตั๋วร่วมมาใช้กับการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ โดยมีการเชื่อมระบบอีซี่พาสของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ M-pass ของกรมทางหลวงไปแล้ว การพัฒนาระยะต่อไป The multi-lane free flow (MLFF) จะเอาระบบไม้กั้นออก แต่จะมีระบบเครื่องอ่านบัตรที่สามารถตัดเงินได้เมื่อรถวิ่งผ่านด่านทันที
นายสุธรรม อยู่ในธรรม ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีกิจการอวกาศมีความสำคัญทุกด้านเกี่ยวพันการพัฒนาดาวเทียมที่เป็นหัวใจระบบสื่อสาร ระบบโทรคมนาคม และในอนาคตจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องระบบขนส่งคมนาคม เช่น การพัฒนาระบบสื่อสารของรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบการกู้ภัย ซึ่งมนุษย์จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
สำหรับภายในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ได้มีการนำนิทรรศการที่น่าสนใจแก่เยาวชน เช่น วิวัฒน์ดาราศาสตร์และกิจการอวกาศโลก ซึ่งจะนำเสนอช่วงเวลาและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจากทั่วโลก และการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ในยุคบุกเบิกของประเทศไทย จนก้าวสู่ยุคการศึกษาอวกาศสากลผ่านเทคนิค Interactive Wall และเทคโนโลยี AR นิทรรศการท้องฟ้าและดวงดาว พบกับโมเดลโลกขนาดยักษ์ เกมส์ปล่อยดาวเทียม.-สำนักข่าวไทย