กรุงเทพฯ 1 มี.ค.-สนข.จับมือ USTDA ของสหรัฐ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาระบบขนส่งทางราง หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างโอกาสทางการแข่งขัน ดันไทยสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความตกลงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกระทรวงคมนาคม และองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (United States Trade and Development Agency: USTDA) พร้อมด้วย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายจอห์น ไบรเดนสไตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำภูมิภาคอาเซียนฝ่ายพาณิชย์ นางสุขสมรวย วันทนียกุลเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศินนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และนายสิทธิศักดิ์อภิชาติธนพัฒน์ รองผู้จัดการภูมิภาคเอเชีย USTDA ร่วมแลกเปลี่ยนบันทึกความตกลงฯ ดังกล่าว ในวันที่ 1 มีนาคม2566 ณ หอประชุม ราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบาย และข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและการแก้ไขปัญหาจราจร ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ได้แก่ทางราง ทางน้ำ และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้เกิดความคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การลดต้นทุนการขนส่งในภาพรวมของประเทศ รวมถึงการสร้างโอกาสทางการแข่งขันของประเทศไทย ในเวทีโลก
สำหรับพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความตกลงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการที่ได้จัดขึ้นในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสนข. และ USTDA ภายใต้โครงการ Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในการดำเนินการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบทางรถไฟให้บรรลุเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ทั้งในด้านการลดต้นทุนการขนส่ง การลดมลพิษจากการขนส่งทางถนน เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยส่งเสริมผลักดันนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ของกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยจะมีการพิจารณาระเบียงการขนส่งหลักที่สำคัญของไทย ได้แก่ 1) ท่าเรือแหลมฉบัง – หนองคาย 2) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – นิคมอุตสาหกรรมใน EEC 3) นิคมอุตสาหกรรมใน EEC – ชุมพร/ระนอง และ 4) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้งนี้ โครงการ Thailand Integrated Logistics and Intermodal Transport Development Plan ประกอบด้วยงาน 6 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การศึกษาทบทวนข้อมูลและประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) การศึกษาทบทวนการขนส่งต่อเนื่องในปัจจุบัน ทั้งการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ 3) การคาดการณ์จราจร 4) การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ อย่างบูรณาการและแผนปฏิบัติการ 5) ข้อเสนอโครงการนำร่อง และ 6) การวิเคราะห์รูปแบบการเงิน เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และจะมีการเสนอแนะพื้นที่โครงการนำร่องอย่างน้อย 3 แห่ง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์บูรณาการโลจิสติกส์และขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในประเทศไทย
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม โดย สนข. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมสนับสนุนการดำเนินการศึกษา และจะนำข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาและคำแนะนำจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาปรับใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของไทยให้มีการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากระบบรางที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าเรือบก (Dry Port) ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าและศูนย์การขนส่งชายแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า USTDA ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการผ่านทุนสนับสนุนในรูปแบบเงินให้เปล่า จำนวน 1,360,740 USD. หรือประมาณ 51 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 14 เดือน เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการที่ชัดเจน สามารถนำไปดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมในการลดต้นทุนการขนส่ง ลดมลพิษจากการขนส่งทางถนน ส่งเสริมความปลอดภัยจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางถนนไปสู่ทางราง อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย