กรุงเทพฯ 9 พ.ย.-สนข. จัดสัมมนา “โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอผลศึกษาจัดทำแผนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เร่งผลักดันการประกาศใช้ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบขนส่งมวลชน และอำนวยความสะดวกการเดินทาง
นางสาวกรุณา เนียมเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” ครั้งที่ 3 ที่จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมและสนข. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบนโยบายให้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งมวลชนโดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวสามารถเดินทางได้ทุกระบบขนส่ง และสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากรถยนต์ส่วนบุคคลมาสู่ระบบขนส่งมวลชน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบขนส่งมวลชน
สนข. ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีแนวคิดในการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาระบบตั๋วร่วมและรูปแบบการชำระเงินประเภท Open-loop System บนพื้นฐานการใช้ Account-Based Ticketing (ABT) และการรองรับระบบ EMV ในการชำระค่าโดยสาร รวมถึงการใช้งานและชำระเงินกับบริการอื่นๆ นอกภาคขนส่ง (Non-Transit) ได้
ที่ผ่านมาสนข. ได้นำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเกี่ยวกับประเด็นโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมที่เหมาะสม แนวทางการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมทางการเงินในระบบตั๋วร่วมที่ และการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย”
สำหรับการจัดสัมมนา “โครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” ครั้งที่ 3 ที่ สนข. จัดขึ้นในวันนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาและร่วมกันเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้การกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิผลและสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ปัจจุบันสนข. อยู่ระหว่างผลักดันการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ…..” ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อรองรับการดำเนินงานทั้งในส่วนของอัตราค่าโดยสารร่วม และมาตรฐานด้านเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญของร่าง “พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ…..” ประกอบด้วย
- แผนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเดินทางและค่าโดยสาร
- โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม/อัตราค่าโดยสารเดียว และอัตราค่าธรรมเนียมทางการเงิน
ในระบบตั๋วร่วม - แผนการลงทุนและพัฒนาระบบตั๋วร่วม
- การจัดหาเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการชดเชยรายได้จากค่าโดยสารร่วม
- แผนและแนวทางการติดตามประเมินผล
- แผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
หากพัฒนาระบบตั๋วร่วมแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์และประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ….. แล้ว จะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าโดยสาร จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ช่วยลดปัญหาการจราจร ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย