รร.เซ็นทรา แจ้งวัฒนะ- รมว.สธ.ชี้ปรับบ้านแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำได้ใช้อำนาจท้องถิ่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ปรับ 2,000-5,000 บาท ใช้เกณฑ์ดัชนีชี้วัดลูกน้ำยุงลาย ต้องไม่เกินร้อยละ 10
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวคิดการป้องปรามการระบาดของยุงลายด้วยการปรับบ้านที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงว่า แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคที่มาจากยุงลาย เป็นพาหะ มีทั้งไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา และล่าสุดไข้ซิกา ซึ่งก็ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว และความจริงโรคซิกา ก็สามารถหายเองได้ใน 7 วัน แต่จะรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก และอาจมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง และจะมีเชื้อหลงเหลือในเลือดเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ก็ไม่ควรวิตกกังวล หากกำจัดการแพร่ระบาดของยุงให้หมดไป ในต่างประเทศ สิงคโปร์มีมาตระการ จับปรับบ้านที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยุงได้ โดยมีการปรับ 200 เหรียญ แต่หากยังปรับลดปริมาณลูกน้ำ ยุงลายในบ้านได้อีกก็จะถูกปรับเพิ่มอีก 2 เท่า หากไม่สามารถควบคุมได้อีกส่งเรื่องฟ้องศาล
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยมาตรา ปรับบ้านเรือนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แพร่ระบาดของยุง ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว แต่สังคมไม่เคยตระหนัก และปฏิบัติตาม ไม่ใช่การออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ที่ระบุว่า แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจ ตามกฎหมายในการควบคุม และดำเนินปรับได้ตั้งแต่2,000 บาท และจำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือใช้อำนาจตามข้อบัญญัติ เฉพาะท้องถิ่น ปรับได้5,000 บาท ครอบคลุม 11 จังหวัด รวม 250 ท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความตระหนัการในป้องปราบกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย และในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นเข้าไปควบคุมดำเนินการ โดยสามารถเรียกเก็บค่าดำเนินการกับเจ้าของบ้านได้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่าทั้งนี้เกณฑ์การตัดสินใจ ปรับบ้านหรือครัวเรือนที่แพร่ระบาดของยุงลาย โดยดูจากดัชนีชี้วัดลูกน้ำยุงลาย ต้องไม่เกินร้อยละ 10 และในวันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้ เตรียมหารือร่วมกับรมว.สาธารณสุขอาเซียน เพื่อออกมาตรการร่วมกันในการควบคุมโรคไข้ซิกา และเกิดการปฏิบัติร่วมกัน .-สำนักข่าวไทย