กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าส่งเสริมปลูกพืชหลังนา 2.82 ล้านไร่ทั่วประเทศ เตรียมเสนอ ครม. 18 ก.ย.นี้ จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่าน ธ.ก.ส.ให้เกษตรกรกู้ลงทุน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ประชุมชี้แจงนโยบายโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาทดแทนการปลูกข้าวนาปรังให้กับเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ระดับภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 400 คน รับฟังเพื่อทำความเข้าใจแนวทางสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวหันมาปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่ตลาดมีความต้องการและให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ โดยใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตของเกษตรกรตั้งแต่การส่งเสริมการปลูก การถ่ายทอดความรู้ การรวบรวมผลผลิต และการเชื่อมโยงกับเอกชนในการเข้ามารับซื้อผลผลิตของเกษตรกร
สำหรับเหตุผลของการส่งเสริมชาวนาหันมาปลูกพืชชนิดอื่นแทนการทำนารอบ 2-3 เนื่องจากหากทำนารอบเดียวจะได้ผลผลิต 33 ล้านตันข้าวเปลือก นำไปสีเป็นข้าวสารได้ 12-13 ล้านตัน คนไทยบริโภคข้าวปีละ 7-8 ล้านตัน ที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ 5 ล้านตัน ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพประมาณตันละ 10,000 บาท ดังนั้น รัฐบาลจึงเพิ่มทางเลือกให้ชาวนาปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวซ้ำ ๆ มาปลูกเพียงรอบเดียวต่อปี หลังหมดฤดูทำนาแล้วหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งความต้องการใช้ในประเทศมากถึง 7-8 ล้านตัน ขณะที่เกษตรกรผลิตได้เพียง 3-4 ล้านตันเท่านั้น ตลาดจึงยังมีความต้องการอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกปลูกพืชตระกูลถั่วทั้งถั่วเหลืองและถั่วเขียว หรือพืชผักได้
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน (Chief of Operation-CoO) นำเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดินเร่งออกพบปะเกษตรกรประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการจูงใจต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไร่ละ 2,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ขอกู้ได้ไม่เกินรายละ 15 ไร่ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย การทำประกันภัยพืชผลกรณีเกิดภัยธรรมชาติ โรคหรือแมลงระบาดไร่ละ 2,000-3,000 บาท อีกทั้งมีตลาดรองรับแน่นอน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เจรจากับภาคเอกชนผ่านทางสมาคมผู้ค้าอาหารสัตว์และสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ประสานบริษัทเอกชน 3-4 แห่งเข้ามารับซื้อผลผลิต โดยใช้กลไกสหกรณ์เป็นตัวกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่อรวบรวมส่งขายให้บริษัทเอกชน อีกทั้งตลอดขั้นตอนการเพาะปลูกบริษัทผู้รับซื้อจะเข้ามาถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตและดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้แก่เกษตรกรด้วย
นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐ จากเดิมต้องใช้เงินประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาทแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยการรับจำนำข้าว การประกันราคา แล้วยังต้องมีเก็บรักษาข้าวเก็บไว้นานข้าวก็เสื่อมคุณภาพ ขายได้ราคาต่ำกว่าทุน แต่ถ้าสามารถจูงใจเกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดอื่นแทนการทำนาจะมีประโยชน์ทั้งการพยุงราคาข้าวให้เหมาะสมและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณที่เป็นเงินกู้และเงินประกันภัยภายในวันที่ 18 กันยายนนี้
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในเขตชลประทาน 2.82 ล้านไร่ใน 32 จังหวัด กำหนดว่าพื้นที่ใดเหมาะสมจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว หรือพืชผัก ตามสภาพดินที่สำรวจไว้ในแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จากนั้นกรมชลประทานได้นำพื้นที่ดังกล่าวมาวางแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งให้ความมั่นใจแก่เกษตรกรได้ว่า จะมีน้ำเพียงพอใช้ปลูกพืชในโครงการนี้จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งการกำหนดพื้นที่จะวางขอบเขตเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อสะดวกต่อการจัดสรรน้ำและการรวบรวมผลผลิต ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล ที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น หากดำเนินสำเร็จจะนำไปเป็นต้นแบบกับพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและผลไม้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย