อุตรดิตถ์ 9 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ ตรวจเยี่ยมแปลงนำร่องปลูกข้าวโพดหลังนาจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้ว โดยมีสหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตแล้วจำหน่ายแก่บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์เกษตรกรต่างยินดีผลผลิตต่อไร่สูงและได้กำไรมากกว่าข้าวนาปรังหลายเท่า
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมายังจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อติดตามผลสำเร็จโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาในพื้นที่นำร่องอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มเพาะปลูกเมื่อต้นเดือนกันยายน 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลา 4 เดือนจึงเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงนี้ ซึ่งได้เกี่ยวฝักข้าวโพดในแปลงของเกษตรกรตัวอย่าง จากนั้นตรวจเยี่ยมความพร้อมจุดรับซื้อผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ซึ่งมีอุปกรณ์การตลาดที่พร้อมรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่
นายกฤษฎา กล่าวว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก ซึ่งปีนี้หลายประเทศปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประสบภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ขณะที่ตลาดภายในประเทศยังมีความต้องการเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ทำให้ราคาผลผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดที่จะออกเดือนมีนาคม คาดว่าจะมีราคารับซื้อสูงขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ที่กิโลกรัมละ 8-10 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ และการดำเนินโครงการได้ยึดหลักการตลาดนำการผลิต มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความสมดุล สิ่งสำคัญคือ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรควบคู่กับการเชื่อมโยงการตลาดไปสู่ภาคเอกชน โดยใช้สหกรณ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาเมล็ดพันธุ์จนกระทั่งการรวบรวมผลผลิต ส่งบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาปีนี้เป็นปีแรกที่ทำในรูปแบบการรวมกลุ่มแบบแปลงใหญ่และสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสามารถจัดหาปัจจัยการผลิตได้ในราคาถูกและขายผลผลิตได้ในราคายุติธรรม ปีที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกข้าวโพดหลังทำนาแบบกระจัดกระจายต้องประสบปัญหาในการขนส่งผลผลิตไปส่งยังโรงงานที่อยู่ไกล แต่ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานงานกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์มาจัดตั้งจุดรับซื้อ โดยพื้นที่ที่มีสหกรณ์การเกษตรนั้น สหกรณ์จะทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร จึงไม่เกิดปัญหาปฏิเสธการรับซื้อหรือราคาไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน
สำหรับพื้นที่นำร่องกรมส่งเสริมสหกรณ์เลือกทำที่อำเภอพิชัย เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เหมาะสมตาม Agri – Map โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 221 ราย และเกษตรกร 67 รายเพิ่งหันมาลองปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นครั้งแรกปีนี้ ซึ่งเกษตรกรทั้งหมดเป็นสมาชิกสหกรณ์ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด พื้นที่เพาะปลูก 3240 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สมาคมผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ร่วมกันทำงานในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพดินเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างละเอียด ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคนิคการปลูก การดูแลรักษา การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ซึ่งจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วได้ผลผลิตรวม 3,800 ตัน สหกรณ์รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดและส่งต่อให้สหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด ซึ่งเป็นแม่ข่ายในการรับซื้อผลผลิตจากทั้ง 4 สหกรณ์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพอบลดความชื้นให้อยู่ที่ 14.5% และส่งจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ราคาขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 9.80 บาท
นายทองเหลือ มูลนิล เกษตรกรตำบลพิชัย กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีต้นทุนผลิตเฉลี่ย 3,810 บาท/ไร่ แปลงเก็บเกี่ยวแล้วขายที่ระดับความชื้น 27-30 % ได้ราคา 7-8 บาทต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวโพดเฉลี่ย 8,365 บาท/ไร่ และเมื่อหักต้นทุนจะมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,555 บาท ผลผลิตข้าวโพดที่ได้เฉลี่ยไร่ละ 1.2 ตัน และบางรายผลผลิตสูงถึง 1.8 ตันต่อไร่ ปีหน้าหากข้าวโพดราคาดีเช่นเดียวกับปีนี้ อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ เข้ามาสนับสนุนทั้งด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การประกันภัย จัดหาภาคเอกชนมารับซื้อแน่นอนจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากข้าวโพดได้กำไรมากกว่าข้าวเป็นเท่าตัว.-สำนักข่าวไทย