อุตรดิตถ์ 19 ก.พ. – วิจิตรสวยงาม เครื่องประดับไทยจากใบอ้อย ผลงานนักเรียน รร.บ้านข่อยสูง จ.อุตรดิตถ์ ใช้งานได้จริง สืบสานงานศิลป์ ต่อยอดสร้างรายได้ แถมช่วยลดปัญหา PM 2.5
นี่คือผลงานของนักเรียนโรงเรียนบ้านข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ที่ร่วมกันประดิษฐ์ศิราภรณ์ วิจิตราภรณ์ เครื่องประดับไทยที่สวยงามอลังการ และสามารถใช้งานได้จริง ในการสวมใส่เป็นเครื่องประดับแต่งกายสำหรับการแสดง การร่ายรำ หรือศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่สำคัญคือ เครื่องประดับเหล่านี้ทำมาจากใบอ้อย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการทำไร่อ้อยในพื้นที่
คุณครูมัณฑนภัทร ขุนจ้อน บอกว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ อ.ตรอน ปลูกเป็นลำดับต้นๆ ของ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะในช่วงนี้ หรือตั้งแต่เดือน พ.ย.-ก.พ. เป็นฤดูเก็บเกี่ยว มีใบอ้อยเหลือทิ้งจำนวนมาก ซึ่งเดิมเกษตรกรก็จะเผา ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 ครูและนักเรียนจึงช่วยกันคิด นำวัสดุเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยประดิษฐ์เป็น “เครื่องประดับไทยจากใบอ้อย” ซึ่งใบอ้อย มีคุณสมบัติเหนียว ทน และยึดเกาะได้ดี




วิธีการทำ คือ นำใบอ้อยมาหั่น ตำให้ละเอียด นำไปผสมกับแป้งข้าวเจ้าที่ต้มกับน้ำให้จับตัวเป็นก้อน นวดผสมกับผงแคลเซียม ปูนยาแนว ทิชชู และใบอ้อย นวดให้เข้ากัน เท่านี้ก็จะได้ดินไว้สำหรับกดลาย เวลาจะใช้ก็นำดินที่ผสมแล้วกดลงในแม่พิมพ์ตามลวดลายที่ต้องการ แล้วนำไปติดบนโครง หรือตัวเรือนเครื่องประดับ นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วลงสีน้ำมัน (สีทอง) ปิดทองคำเปลว และประดับตกแต่งเพชรพลอย เท่านี้เป็นอันเสร็จ ออกมาเป็นชิ้นงานวิจิตรสวยงาม
ปัจจุบันเครื่องประดับไทยจากใบอ้อย ของโรงเรียนบ้านข่อยสูง มีครบทุกชิ้น เหมือนยกร้านจำหน่ายหรือเช่าเครื่องประดับรำไทย นาฏศิลป์ มาไว้ที่โรงเรียน อาทิ เกี้ยวเปลว เกี้ยวตัด เกี้ยวกลม เกี้ยวยอด จอนหู ต้นแขน ข้อมือ หัวเข็มขัด สร้อยคอ ต่างหู กระบังหน้า กรองคอ ทับทรวง และอีกมากมาย ช่วยประหยัดงบประมาณของโรงเรียนในการที่จะต้องไปหาเช่า ที่สำคัญคือ ช่วยลดการเผา ลดฝุ่น PM 2.5 สร้างสุขภาพที่ดี อีกทั้งนักเรียนยังได้ร่วมสืบสานงานศิลป์ที่เป็นมรดกของชาติ ต่อยอดสร้างรายได้ เพราะปัจจุบันนี้ ช่างหรือคนทำเครื่องประดับเหล่านี้ลดน้อยลง และหากโรงเรียนอื่นๆ หรือกลุ่มชาวบ้านสนใจ ทางโรงเรียนยินดีให้ความรู้. – สำนักข่าวไทย