สพฉ.10 ก.ย.-เลขาฯ สพฉ.แจงเหตุแอบอ้างเป็นรถกู้ภัยฉุกเฉินขนยาบ้าที่ จ.พะเยา เป็นรถของเอกชน ที่มาเสริมการทำงานของเทศบาล แห่งหนึ่งที่ จ.ปทุมธานี ซึ่ง สพฉ.ได้เพิกถอนไปเมื่อหลายปีก่อนแล้ว
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ชี้แจงกรณีมีรถแอบอ้างว่าเป็นรถกู้ภัยฉุกเฉิน แต่กลับขนยาบ้าผ่านด่านที่ จ.พะเยา ว่า รถ1ใน 2 คันเป็นรถกู้ภัยของเอกชน ที่มาวิ่งเสริมรถกู้ภัยของเทศบาลแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ซึ่ง สพฉ.ได้เพิกถอนสิทธิ์รถคันที่ก่อเหตุไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าในส่วนของเทศบาลแห่งนั้น มีรถกู้ภัยฉุกเฉินเสริมจากเอกชนเข้าร่วมบริการ 13 คันในจำนวนนี้มี 4 คันที่ถูกถอนใบอนุญาต และคันที่เพิ่งพบกระทำผิดที่ จ.พะเยาเป็นหนึ่งใน 4 คันนั้น
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สพฉ.เป็นแกนกลางมีรถกู้ภัยฉุกเฉิน ดำเนิน งานร่วมกันหลายหน่วยงานทั้งจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รถในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ และรถจากมูลนิธิสมาคมกู้ภัยต่างๆ โดยรถที่จะได้รับสิทธิ์เป็นรถกู้ภัยฉุกเฉิน ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เช่น สภาพรถมาตรฐาน ทะเบียนรถถูกต้อง ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ,หากมีการดัดแปลงสภาพต้องได้รับการรับรองจากกรมสรรพสามิต , ผู้ปฏิบัติงานได้รับการอบรมตามเกณฑ์ของ สพฉ. จึงจะได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนป้ายและคิวอาร์โค้ด บอกพื้นที่การทำงานอย่างถูกต้อง มีสติ๊กเกอร์ลักษณะแถบสีเขียวบอกชื่อสังกัด ซึ่งได้แก่โรงพยาบาลทุกระดับ องค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตครบถ้วน ,ได้รับอนุมัติไฟฉุกเฉิน และไซเรน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันนี้มีรถกู้ภัยฉุกเฉินที่ได้รับขึ้นทะเบียนเกณฑ์มาตรฐาน สพฉ. ราว 10,000 คัน ทั่วประเทศ
ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติการในรถกู้ภัยฉุกเฉินอยู่ราว 87,000 คน ทุกคนต้อง ได้รับการอบรมเป็นรายชั่วโมงตามเกณฑ์และมีใบอนุญาต ตามลำดับขั้นของระยะเวลาชั่วโมงการอบรม
เลขาธิการ สพฉ.กล่าวด้วยว่า การกระทำผิดดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นส่วนที่ สพฉ.ต้องรับผิดชอบ เพราะรถคันที่กระทำความผิดได้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ไปนานแล้ว แต่ถึงแม้ยังได้ใบอนุญาตอยู่ ก็ถือเป็นการกระทำความผิดของบุคคล ซึ่งต้องส่งไปรับโทษตามความผิดนั้นๆ ส่วนความผิดที่ สพฉ.ต้องรับผิดชอบ เช่น พนักงาน ปฎิบัติหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือทำเกินหน้าที่ เช่น ไม่ช่วยชีวิต ผู้ป่วยหรือฉีดยาให้ผู้ป่วยแทนแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ในอนาคต สพฉ.จะต้องบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส.เพื่อกำหนดมาตรฐาน กฎเกณฑ์ของ รถกู้ภัยฉุกเฉิน หรือรถส่งต่อผู้ป่วย ซึ่ง ปัจจุบัน รถกู้ภัยเหล่านี้มี สังกัดอยู่มากมายทั้งของภาครัฐและเอกชน
เลขาธิการ สพฉ.กล่าวอีกว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมามีการปฏิบัติงานกู้ภัยฉุกเฉิน ของ สพฉ. กว่า 1,700,000 ครั้ง ทั่วประเทศ ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกว่า 87,000 ราย ด้วยรถกู้ภัยฉุกเฉินในสังกัดของโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดทั้งปีมีการพบการกระทำผิดเพียง 1 เหตุการณ์เท่านั้น ซึ่งหากประชาชนทั่วไปมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของรถกู้ภัยฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์ สอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข
02 8721669.-สำนักข่าวไทย