กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – ก.เกษตรฯ สั่ง กยท.เร่งทำรายละเอียดของบฯ จาก ครม. จ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางจากปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่อง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งจัดทำรายละเอียดแผนงานและขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งยังเสร็จไม่ทันเสนอที่ประชุม ครม.วันพรุ่งนี้
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือจะให้ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ เป็นข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภาวะราคายางตกต่ำต่อเนื่อง โดยเกษตรกรที่จะได้รับเงินช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรขึ้นทะเบียนชาวสวนยางไว้กับ กยท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าเงินช่วยเหลือจะเป็นจำนวนเท่าใด นโยบายไม่ได้เป็นการหาเสียงของรัฐบาล แต่ต้องการช่วยเหลือชาวสวนยาง ซึ่งไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินแบบให้เปล่า แต่เกษตรกรต้องมาฝึกอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพด้วย จึงจะได้รับเงินผ่านบัญชีธนาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำควบคู่ คือ การยกระดับราคายางอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศ สนับสนุนการประกอบอุตสาหกรรมแปรรูปยางเพื่อดูดซับปริมาณยางพาราออกจากตลาด ราคาจะได้ปรับตัวสูงขึ้นและจะไม่ใช้วิธีแทรกแซงราคายางด้วยการซื้อในราคานำตลาด รวมทั้งการรับจำนำยาง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งปัญหาที่ตามมา คือ ต้องใช้เงินเช่าสถานที่เก็บรักษา หากขายต่อไม่ได้ก็จะกลายเป็นสตอกยางค้างแล้วเป็นวัฎจักรกดดันราคาเหมือนขณะนี้
ส่วนที่มีข่าวว่ารัฐบาลเร่งขายยางค้างสตอกก่อนปี 2557 ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายให้ซื้อมาแล้วขายไม่ออก นายกฤษฎา ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการนำยางเก่ามาขายตอนนี้จะยิ่งทำให้ราคายางพาราในปัจจุบันซึ่งอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 43-45 บาท ถดถอยลงไปอีก โดยราคาที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับไปให้ได้ คือ ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางอยู่ได้
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ในฐานะกรรมการบริหาร กยท. กล่าวว่า นายกฤษฎา ได้คำนวณงบประมาณที่จะใช้ช่วยเหลือเกษตรกร แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ ช่วยชาวสวนยางทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้ 1.3 ล้านคน ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน หรือช่วยเฉพาะรายย่อยที่มีสวนยางไม่เกิน 5-10 ไร่ เบื้องต้นคาดว่างบประมาณที่จะจ่ายเป็นเงินช่วยค่าครองชีพเกษตรกรสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ซึ่งปลูกยางอายุ 7 ปีขึ้นไป อยู่ในช่วงกรีดและที่ผ่านมาราคายางต่ำกว่าทุนประมาณ 800,000-900,000 ราย จะต้องของบกลางจากรัฐบาลประมาณ 3,000 ล้านบาท เมื่อได้รายละเอีดยครบถ้วนนายกฤษฎา จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ในวันนี้จะมีผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอทราบแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นจากปัญหาราคายางตกต่ำต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปี นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท. ระบุว่ากำลังเร่งจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าครองชีพ การพัฒนาอาชีพและการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เสนอต่อรัฐมนตรีเกษตรฯ ให้เร็วที่สุด
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สยยท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรหณ์ รมว.เกษตรฯ จะเสนอ ครม.ของบกลางมาจ่ายเป็นเงินเข้าบัญชีเกษตรกรสวนยางโดยตรงช่วยค่าครองชีพ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำต่อเนื่องมา 3-4 ปีแล้ว โดยกล่าวว่า รัฐบาลช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. (บัตรเขียว) เพียง 1.3 ล้านรายเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่ทำสวนยางในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนใว้ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย (บัตรชมพู) ประมาณ 7 ล้านราย ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (Cess) ให้ กยท. เหมือนกันก็สมควรได้รับความช่วยเหลือด้วย
นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2558 สมัยที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็น รมว.เกษตรฯ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกฯ เคยเสนอโครงการสร้างความเข็มแข็งให้เกษตรกรสวนยางครัวเรือนละ 1 สิทธิ์ ไม่เกิน 15 ไร่ อัตราไร่ละ 1,500 บาท แบ่งเป็นเจ้าของสวน 900 บาทและคนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนคนกรีดยางกับ กยท. 600 บาทต่อไร แต่เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งไม่กี่วันเงินก็หมด จึงเห็นว่าควรให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม โดยรัฐสนับสนุนเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ให้ความรู้ หาตลาดให้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพี่อให้ใช้ยางในอุตสาหกรรมเพิ่มปริมาณยางใช้ในประเทศมากขี้น สร้างเสถียรภาพราคายาง เกษตรกรก็มีความหวังมีอาชีพเสริมแล้ว ซึ่งในอนาคตก็ทำเป็นอาชีพที่มั่นคงพึ่งตนเอง ถ้าแจกเงิน 2-3 เดือนก็ไม่เหลือ ปีต่อไปจึงขอใหม่ อีกทั้งเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นก็จะขอด้วย.-สำนักข่าวไทย