ภูมิภาค 5 ก.ย.-ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน แม้จะเริ่มทรงตัว แต่ระดับน้ำยังสูง ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำ หลังน้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง
ที่นครพนม ระดับน้ำโขงยังสูงที่ 12 เมตร 60 เซนติเมตร ห่างจากจุดวิกฤติเพียง 40 เซนติเมตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาและยังเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำ ลำน้ำสงครามอยู่ที่ 14 เมตร 50 เซนติเมตร เกินจุดวิกฤติ เนื่องจากลำน้ำอูนไหลมาสมทบ ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง ขณะนี้บ้านเรือนกว่า 400 หลัง ใน ต.ท่าบ่อสงคราม และ ต.หาดแพง ถูกน้ำท่วมขังนานกว่า 1 เดือน และยังไม่มีทีท่าจะลดลง
ที่มุกดาหาร ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากน้ำทางตอนเหนือทรงตัว และลดระดับลง แต่ยังสูงกว่าระดับวิกฤติ 16 เซนติเมตร อยู่ที่ 12 เมตร 66 เซนติเมตร จังหวัดกำชับให้ประชาชนที่อยู่ริมฝังแม่น้ำโขง และในที่ลุ่ม ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ลำน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ไหลจาก จ.อุดรธานี ลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ขณะนี้น้ำในลำห้วยหลวงเพิ่มปริมาณสูงขึ้น จากฝนตกหนักต่อเนื่อง ระดับน้ำห้วยหลวงต่ำกว่าน้ำโขงเพียง 92 เซนติเมตร ชลประทานหนองคายปิดประตูระบายน้ำกั้นไม่ให้แม่น้ำโขงไหลเข้าลำห้วยหลวง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ลำน้ำสวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีกสาย ซึ่งจะไหลลงแม่น้ำโขงที่บ้านปากสวย ถูกน้ำโขงไหลย้อนเข้ามา เนื่องจากลำน้ำสวยไม่มีประตูปิดเปิดน้ำ ทำให้น้ำล้นทะลักเข้าท่วมชุมชนบ้านปากสวย และตลาดสด
ส่วนที่บึงกาฬ หน่วยงานภาครัฐ ทหารรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ และชาวบ้าน เร่งก่อกระสอบทรายกว่า 1,000 ลูก เพื่อนำไปวางปิดกั้นทางน้ำ ท่อระบายน้ำ และคลองส่งน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง หวั่นแม่น้ำโขงไหลย้อนกลับเข้าท่วมชุมชน และพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลตำบลปากคาด ขณะที่วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ที่ 12 เมตร 54 เซนติเมตร ลดลงจากเมื่อวาน 5 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ อ.เมืองบึงกาฬ ระดับน้ำโขงอยู่ที่ 13 เมตร 78 เซนติเมตร แม้จะลดลง แต่อยู่ในขั้นวิกฤติ
ด้านกรมชลประทานปรับลดการระบายน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ ลดปริมาตรการระบายน้ำ อีกทั้งน้ำจากฝนที่ตกสะสมไหลลงสู่ลำน้ำมีน้อยลง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านล่างที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่ง จะดีขึ้นตามลำดับ โดยกรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาจนสอดคล้องกับการระบายของเขื่อนทั้งสองแห่ง เชื่อว่าจะลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มากที่สุด จะส่งผลดีต่อชาวบ้านริมคลองชัยนาท-ป่าสัก จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี พื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม ล่าสุด ยังเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนในเขต จ.สุพรรณบุรี และนครปฐม รวมทั้งสิ้น 81 เครื่อง.-สำนักข่าวไทย