ตรัง 4 ก.ย.-เด็กหญิง 2 พี่น้องวัย 12 ปี และ 13 ปี ทำกรงนกขายสร้างรายได้ระหว่างเรียน โดยเริ่มจากการช่วยคุณแม่รวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านซึ่งเป็นผู้หญิงล้วน ทำกรงนกขายจนกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว มียอดสั่งซื้อจากทั่วประเทศและทางออนไลน์จนผลิตแทบไม่ทัน
ที่บ้านโคกม่วง ต.เกาะเปียะ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.วิภาวดี เนียมเกลี้ยง อายุ 37 ปี ที่ตั้งขึ้นเป็นกลุ่มผู้หญิงทำกรงนก จ.ตรัง โดยใช้ฝีมือแรงงานของผู้หญิงในหมู่บ้านทั้งหมดรวม 5 คน ทำกรงนกส่งขายทั้งในและต่างประเทศมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยในกลุ่มผู้หญิงทำกรงนกตำบลเกาะเปียะนี้ พบ ด.ญ.ศันสินี วงศ์ประเสริฐ อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวิเชียมาตุ กับ ด.ญ.เพ็ญพร วงศ์ประเสริฐ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดอัมพวัน สองคนพี่น้อง มาช่วย น.สวิภาวดี ซึ่งเป็นคุณแม่ ทำกรงนกด้วย
น้องทั้งสองคนใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน ไม่ดูทีวี ไม่เล่นเกม ไม่ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน แต่จะมาช่วยคุณแม่ทำกรงนก เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว ซึ่งต้องดูแลรวม 5 ชีวิต และจะได้มีเงินไปโรงเรียนด้วย เด็กหญิงสองคนพี่น้องเริ่มพัฒนาฝีมือได้ดีขึ้น จนเริ่มประกอบเข้ารูปเป็นกรงนกได้แล้ว แต่ยังต้องทำในส่วนที่ตนถนัดและเป็นงานที่ใช้แรงน้อยอยู่ ตามกำลังความสามารถ ซึ่งน้องเตรียมต่อยอดนำไปประกอบอาชีพในอนาคต
สำหรับกรงนกในภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงนกเป็นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นนกกรงหัวจุก นกแก้วหรือนกเขา ทั้งนิยมเลี้ยงไว้ฟังเสียงและนำมาประชันเสียงในสนามแข่งขัน มีผลทำให้เกิดความต้องการที่จะได้กรงนกดีๆ มาใส่นกตัวเก่ง เป็นหน้าตาของคนรักนก และยังเป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน โดยช่างจะเน้นสลักลายบนไม้โครงทุกชิ้นให้สวยงามและประณีต เพื่อบ่งบอกถึงราคาของกรงนก ซึ่งมีตั้งแต่หลักพันถึงหมื่นเลยทีเดียว สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้หญิงทำกรงนกเดือนละไม่ต่ำกว่า 60,000-100,0000 บาท หรือเกือบ 1 ล้านบาท/ปี
ด้าน ด.ญ.เพ็ญพร วงศ์ประเสริฐ อายุ 12 ปี กล่าวว่า ตนเองกับพี่สาว หลังจากเลิกเรียนหรือช่วงวันหยุด แทนที่จะไปเล่นเกมหรือดูทีวีอย่างเพื่อนคนอื่นๆ ก็จะมาช่วยแม่ทำกรงนก และรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือครอบครัว การทำกรงนกนั้นไม่ยาก ตนทำได้เฉพาะบางอย่างที่มีความถนัดและชำนาญ แต่เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดเป็นอาชีพต่อไปในอนาคตได้
ด้าน น.ส.วิภาวดี เนียมเกลี้ยง กล่าวว่า เหตุที่หันมาทำกรงนก เพราะมีรายได้จากการกรีดยางพาราไม่เพียงพอ จึงต้องชักชวนกันมาทำอาชีพเสริม ซึ่งต่อมากลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว ส่วนลูกสาวทั้งสองคนก็มาช่วยทำนานแล้ว ส่วนคำถามที่ว่าระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงการทำกรงนกใครละเอียดกว่า ตนมองว่าอย่าไปเปรียบเทียบกันว่าระหว่างผู้หญิงผู้ชายใครทำละเอียดกว่ากัน แต่มองว่างานของเรา เราต้องทำให้สวย ให้ลูกค้ามองว่าเราทำได้ดีถูกใจ สวย อาจจะสวยคนละแบบกับผู้ชาย ถ้าเรามองว่าเราทำสวยก็สวย เราชอบ สำหรับตลาดมีส่งที่ร้านค้าในเมืองตรัง ลูกค้าทางเฟซบุ๊ก ยอดสั่งมีมาเรื่อยๆ ถึงแม้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ความต้องการยังมีมาเรื่อยๆ ผู้สนใจติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก “ผู้หญิงทำกรงนกจังหวัดตรัง” หรือโทรสอบถามได้ที่ 09-3779-7564, 06-1216-5546, 06-4745-9549.-สำนักข่าวไทย