สำนักข่าวไทย 30 ส.ค. – จิตแพทย์ ชี้ เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ใน เด็ก สตรี และคนพิการ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มคนอ่อนแอ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขณะที่ผู้กระทำรุนแรง ข่มขืน หากทำเพราะคิดว่ามีอำนาจมากกว่า สามารถแก้ไขได้ แต่ คนที่ทำไปเพราะโกรธ หรือ มีรสนิยมทางเพศรุนแรง และขาดความยับหยั่งชั่งใจ ยากแก้ไข
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการทำร้าย เด็ก สตรี และคนพิการ จากเหตุข่มขืนเด็กออทิสติกที่จังหวัดสงขลา ว่า การที่เด็ก สตรีและคนพิการมักเป็นเหยื่อความรุนแรงก็เนื่องจาก จัดเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความสามารถในการป้องกันตนเอง จึงเป็นสาเหตุให้คนดูแลใกล้ชิด ต้องเพิ่มความระมัดระวังและใส่ใจเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันสำหรับคนที่มีพฤติกรรมข่มขืนมี 4 ประเภทด้วย
1. ข่มขืน เพราะคิดว่าตนเองเป็นคนมีอำนาจมากกกว่า จะทำอย่างไรก็ได้ มักจะเป็นการกระทำในกลุ่ม ลูกน้องเจ้าน้อง เป็นต้น
2. ข่มขืนเพราะระบายความโกรธ เป็นวิธีการแก้แค้น เอาคืน
3. ข่มขืนเพราะต้องการความสุขทางเพศ แบบรุนแรง เช่น ชอบได้ยินเสียง กรีดร้อง หรือเห็นคู่นอนเจ็บปวด มีบาดแผล
4. ข่มขืนแบบเป็นการตอบสนองที่ไม่มีความยับหยั่งชั่งใจ ไม่มีการควบคุมอารมณ์ ความคิด
ซึ่งการกระทำรุนแรงในลักษณะนี้ เป็นการะสะท้อนสังคม และทำให้เกิดความเข้าใจว่า การกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็เพราะผู้เป็นเหยือไม่สามารถปกป้องดูแลตนเองได้ ขณะเดียวกัน ผู้กระทำความผิด ข่มขืน ยังมีค่านิยมของความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างชายหญิง ในสังคม คิดว่ามีอำนาจเหนือกว่า
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ในลักษณะของผู้กระทำรุนแรงด้วยการข่มขืน หากเป็นลักษณะที่ 1 ข่มขืนเพราะคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่านั้น สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดในสังคม แต่ในลักษณะของการข่มขืนในลักษณะ ที่ 2 ,3 และ 4 นั้น ถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่สั่งสม และเกิดการเรียนรู้ จนเป็นพฤติกรรมเช่น รสนิยมความรุนแรงทางเพศ หรือ ความโกรธ ส่วนในคนที่ถูกกระทำ หรือ เหยื่อ ก็ต้องถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบาดแผลต้องได้รับการเยียวยาดูแล จิตใจเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มคนพิเศษ ออทิสติก ก็ต้องเพิ่มความใส่ใจ เพราะอาจเป็นเรื่องการในการสื่อสาร.สำนักข่าวไทย