สำนักข่าวไทย14 ส.ค.-สธ.ถกไม่จบใช้สารเคมี 3 ชนิดในระบบเกษตรกรรม ยืนยันมีผลต่อหญิงตั้งครรภ์ และทารก หากยังคิดเห็นแย้งกับกระทรวงเกษตรเตรียมส่งเรื่องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตัดสินใจ
นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ว่า กรณีของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดพาราควอต ,คลอร์ไพริฟอส ,ไกลโฟเซต ที่ก่อนหน้านี้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคประชาชนและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเสนอแบนสารเคมี 2 ชนิด ส่วนอีกชนิด คือไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ไปก่อน แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่าไกลโฟเซตก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นกันก็จำเป็นต้องอิงตามข้อมูลทางวิชาการที่เป็นจริงด้วย เพราะครั้งก่อนยังไม่ได้ข้อมูลใหม่ จึงให้จำกัดการใช้
โดยการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯสนับสนุนการใช้การเกษตรปลอดภัย และไม่เห็นด้วยกับการใช้สารพิษในระบบเกษตรกรรม เพราะไม่อยากให้ประชาชนไปสัมผัสสารพิษ พร้อมกันนี้ จะประสานไปกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
นพ.เสรี กล่าวว่า นอกจากนี้จะประสานกับคณะกรรมการปฏิรูปอีก2 คณะ คือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจะเชิญหารือเพื่อขอความคิดเห็นเรื่องนี้ประมาณสัปดาห์หน้าและหารือความคิดเห็นระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงแตกต่างเตรียมนำเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ตัดสินใจว่าสมควรมีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข กล่าวว่า มีรายงานทางวิชาการชัดเจนว่าการปนเปื้อนของสารเคมี ทั้ง 3 ชนิด ส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ ที่อยู่ในพื้นที่เกษตร เด็กทารกได้รับสารไกลโฟเซตในศรีลังกา มีต่อต่อสติปัญญาความเฉลียวฉลาด เนื้อสมอง บุคคลิกภาพและยังมีผลให้เกิดไตวาย โดยข้อมูลการนำเข้าสารเคมี พบว่าขณะนี้มีการนำเข้า ไกลโฟเซต 60 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น ร้อยละ30 ของสารเคมีพิษเข้าในประเทศไทย ส่วนพาราควอตนำเข้า 45.5 ล้านกิโลกรัม หรือร้อยละ 22.5 ส่วนคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงเข้ามา 3.3 ล้านกิโลกรัม
นายพานิชย์ เจริญเผ่า กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ควรมีเหตุผลด้านไหนมาค้านเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารได้ ซึ่งอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุว่ามีข้อมูลวิชาการสามารถยกเลิกใช้สารเคมี นี้ได้ จึงไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงไม่ยกเลิก อย่างจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชาทั้งหมดยกเลิกหมดแล้ว ซึ่งการปล่อยให้คนในประเทศป่วย ก็จะยิ่งเพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาล เห็นได้จากทุกปีก็ต้องของบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มตลอด.-สำนักข่าวไทย