เร่งดำเนินการปลูกพืชอื่นทดแทนยางพารา

กรุงเทพฯ  17 ก.ค. – กยท.กำหนดมาตรการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 แสนไร่ เพื่อลดปริมาณยางพาราที่ล้นตลาดและเน้นการแปรรูปส่งขายมากขึ้น


นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ราคายางในตลาดเริ่มปรับตัวขึ้น 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม จากมาตรการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางใน 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎ์ธานี บุรีรัมย์ และหนองคาย โดยให้ราคาซื้อขายเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต้องมารับซื้อที่ตลาดกลาง ซึ่งการแข่งขันด้านราคารับซื้อส่งผลให้เกิดการผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ขณะนี้มีเงินหมุนเวียนในตลาดซื้อขายเพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวสวนยางนำยางเข้ามาขายตลาดกลาง ล่าสุดราคายางแผ่นดิบรมควันวานนี้ (16 ก.ค.) กิโลกรัมละ 45.79 บาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง กยท.มีเป้าหมายให้ราคายางสูงขึ้นไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คุ้มทุน

ทั้งนี้ ในวันนี้คณะกรรมการบริหาร กยท.จะประชุมเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการโครงการปลูกพืชอื่นทดแทนยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจากพื้นที่ที่ทั้งหมดกว่า 3 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี เดิมตั้งเป้าหมายจะลดพื้นที่ปลูกยางลงปีละ 400,000 ไร่ เพิ่มเป็นปีละ 600,000 ไร่ คาดว่าจะทำให้ราคาขยับขึ้น 10 บาทต่อกิโลกรัมและจะถึงเป้าหมายกิโลกรัมละ 60 บาทช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทนนั้นมีงบประมาณ 2 ส่วน คือ งบประมาณประจำปีของ กยท.ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 รัฐจะสนับสนุนเกษตรกรไร่ละ 16,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณในโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่จัดสรรให้แก่โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ปรับเปลี่ยนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปีแล้วไปปลูกพืชอื่น รัฐสนับสนุนไร่ละ 10,000 บาท โดยงบประมาณจากไทยนิยมยั่งยืนได้รับทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการห้ามกรีดยางในสวนยางพารา ซึ่งรุกเข้าไปในพื้นที่ป่ากว่า 1 ล้านไร่ มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดจะลดปริมาณยางสู่ตลาดได้ปีละ 300,000 ตัน


สำหรับโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยนั้น ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถขยายตลาดเพิ่มและเปิดตลาดใหม่ โดยมีผู้ประกอบกิจการยางพาราจากจีน ไต้หวัน อินเดีย ศรีลังกา อิหร่าน เม็กซิโก และรัสเซีย รวม 27 บริษัทจับคู่ค้าเพื่อรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรสวนยางพารากว่า 30 แห่ง เสนอขอซื้อผลผลิตยางพาราประเภทต่าง ๆ ได้แก่ น้ำยางข้น ยางเครปขาว ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง รวมปริมาณเดือนละ 58,000 ตัน หรือคิดเป็น 696,000 ตันต่อปี 

นอกจากนี้ กยท.ยังมอบหมายให้กองจัดการโรงงาน  2 กยท.เขตภาคใต้ตอนกลางที่ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราชเพิ่มกำลังการผลิตน้ำยางข้น จากเดิม 1,500 ตัน เป็น 2,500 ตันต่อเดือน ซึ่งจะสามารถรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรได้มากขึ้น อีกทั้งให้ กยท.ทุกจังหวัดสำรวจปริมาณยางแห้งทั้งแผ่นรมควัน ยางแท่ง หรือยางประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชนซื้อยางดิบจากเกษตรกรมาแปรรูปเพื่อรอการจำหน่าย โดยจะนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการเพื่อให้ราคายางภายในประเทศมีเสถียรภาพ      

นายเยี่ยม กล่าวว่า กยท. ดำเนินการมาครบ 4 ปีแล้วมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นเกษตรสวนยางและด้านการพัฒนางานวิจัย ไปสู่องค์กรชั้นนำระดับโลกในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอ เข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอ เข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ