สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย5 ก.ค..-ผู้ป่วยทดแทนไต 2.4 หมื่นรายทั่วประเทศ ระบุ “บัตรทอง” ให้สิทธิล้างไตผ่านช่องท้อง-ปลูกถ่ายไตฟรี คนไข้ทำเองได้ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล ยืนยันคุณภาพดี
ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การล้างไตผ่านทางช่องท้อง ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตอนหนึ่งว่า โรคไตเรื้อรังเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งจากการทำวิจัยของสมาคมฯ พบว่าประเทศไทยมีการอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรังประมาณ 17% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้หากเทียบเคียงฐานประชากร 65 ล้านคน จะพบว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอยู่ประมาณ 10-11 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยสาเหตุหลักของการเกิดโรคก็คือผลพวงจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน
สำหรับโรคไตเรื้อรังจะแบ่งระดับความรุนแรงของโรคออกเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่ 1-5 โดยระยะที่รุนแรงที่สุดคือระยะที่ 5 ซึ่งจะพบว่าค่าการทำงานของไตจะต่ำกว่า 15% จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต
ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต รวมไปถึงการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยนั้น จากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 2.4 หมื่นราย นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเช่นกัน
“การล้างไตผ่านทางช่องท้อง กับการล้างไตผ่านหลอดเลือดอยู่ในบริบทเดียวกัน โดยการล้างไตผ่านช่องท้องคนไข้สามารถทำเองได้ที่บ้าน ปลอดภัย ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็ว ส่วนการล้างไตผ่านทางหลอดเลือดจะต้องใช้เทคโนโลยีและทีมแพทย์ จึงต้องทำที่โรงพยาบาลเท่านั้น ข้อดีคือคนไข้ไม่ต้องทำเอง แต่คนไข้ต้องมาโรงพยาบาลเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง” ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การล้างไตผ่านช่องท้องโดยที่ผู้ป่วยทำเองที่บ้านนั้นมีประสิทธิภาพดี จากการเก็บข้อมูลพบว่าความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนการอำนวยความสะดวกนั้นทาง สปสช.ได้ทำสัญญาไว้กับไปรษณีย์ไทย ทางไปรษณีย์จะทำหน้าที่จัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน แม้ว่าในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็ยังสามารถจัดส่งทางเรือไปจนถึงบ้านผู้ป่วยได้ ซึ่งแตกต่างกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากโรงพยาบาลน้ำท่วม
สิทธิบัตรทองมีนโยบาย การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นอันดับแรก คือหากคนไข้มีข้อบ่งชี้ว่าการทำงานของไตต่ำกว่า 15% ก็จะได้รับการรักษาด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องทุกราย นอกจากนี้ สปสช.ยังให้สิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายไตให้กับคนไข้ด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งนับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากสำหรับคุณภาพชีวิตของคนไทย ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย