รัฐสภา 5 ก.ค.-ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 3 วาระรวด ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี ยืนยัน การแก้ไขกฎหมายนี้ เป็นการปฏิรูปองค์กรสงฆ์และพระพุทธศาสนาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และพิจารณา 3 วาระรวด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายนี้ จะเป็นการปฏิรูปองค์กรสงฆ์อย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ทำให้ประชาชนเกิดการยอมรับ พร้อมชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนขององค์ประกอบคณะกรรมการมหาเถรสมาคมที่ระยะหลัง สมเด็จพระราชาคณะ มักจะชราภาพ และอาพาธ ทำให้ไม่สามารถเข้าประชุมได้ นอกจากนี้ แม้ว่าจะกำหนดวาระให้คณะกรรมการฯ ปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี แต่ในหลักการของสงฆ์ คณะกรรมการฯ ก็ยังอยู่ตำแหน่งต่อไปได้หากไม่มีใครคัดค้าน ดังนั้น หากจะมุ่งหวังให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้นำในการปฏิรูปคณะสงฆ์จึงต้องปรับปรุงคุณสมบัติและที่มาของคณะกรรมการฯ ด้วยการกลับไปพิจารณารูปแบบของพระราชบัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามโบราณราชประเพณี ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว และ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเท่านั้น ไม่สามารถถวายความเห็นใด ๆ ได้ตามที่หลายฝ่ายกังวลว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐบาลปกติจะแทรกแซงการแต่งตั้ง
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าการแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อให้การคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี รวมถึงให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง แต่ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจำนวนเท่าเดิมคือ 20 รูป แล้วนำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และมีพระบรมราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้
ขณะที่ สมาชิก สนช.ต่างสนับสนุนรัฐบาลในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการแสวงหาผลประโยชน์จากสงฆ์ จนทำให้พระพุทธศาสนากำลังประสบปัญหาในหลายด้าน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ สนช.ที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น โดยเฉพาะปัญหาการไม่ยอมรับจากพุทธศาสนิกชน
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์วาระแรกด้วยคะแนน 216 เสียงงดออกเสียง 4 เสียง จากนั้นได้พิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ต่อในทันที ก่อนจะมีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ด้วยคะแนน 217 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง.-สำนักข่าวไทย