กทม.4 ก.ค.-สำรวจคนไทยตื่นเช้ามาจะติดตามข่าวการช่วยเหลือเด็กออกจากถ้ำหลวงเป็นอันดับแรก ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่เพิ่งรู้ว่าถ้ำหลวงยาว 7 กิโลเมตร และเห็นด้วยให้ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล(SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่องโพล พฤติกรรมคนติดตามข่าวสารช่วยเด็กนักเรียนออกจากถ้ำหลวง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน1,052 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 มิ.ย.–3 ก.ค.2561ที่ผ่านมา เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 ตื่นเช้าขึ้นมา เปิดโทรทัศน์รับข่าวสาร เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ร้อยละ 39.7 เปิดโทรศัพท์มือถือ และรองๆ ลงไปคือ วิทยุ คอมพิวเตอร์ และหนังสือพิมพ์ ตามลำดับ
และเมื่อถามว่าติดตามข่าวอะไรอันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ระบุตื่นเช้าขึ้นมาติดตามข่าวเด็กนักเรียนติดถ้ำ รองลงมาคือ ร้อยละ 7.5 ติดตามข่าวอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยของประชาชน และเพียงร้อยละ6.5 เท่านั้นที่สนใจติดตามข่าวดูด ส.ส.เข้าพรรคการเมือง ร้อยละ 4.0 ติดตามข่าวฟุตบอลโลก ในขณะที่ ร้อยละ1.1ติดตามข่าวดารา บันเทิงและร้อยละ0.8 ติดตามข่าวหุ้นเศรษฐกิจ ตามลำดับ
เมื่อถามว่าติดตามข่าวช่วยเด็กนักเรียนติดถ้ำ ผ่านสื่อใดอันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.5 ยังคงติดตามข่าวช่วยเด็กติดถ้ำผ่าน สื่อกระแสหลักทั่วไป เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ในขณะที่ร้อยละ 34.5 ติดตามข่าว ผ่านสื่อโลกโซเชียล ได้แก่ เว็ปไซต์ข่าว ไลน์ ยูทูป ทวิสเตอร์ เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 เพิ่งจะรู้ว่า ถ้ำหลวงยาวประมาณ 7 กิโลเมตร หลังมีข่าวเด็กนักเรียนติดถ้ำหลวง ในขณะที่เพียงร้อยละ 12.1 รู้มาก่อนแล้ว
นอกจากนี้เนื้อหาข่าวที่ประชาชนสนใจติดตามช่วยเหลือเด็กนักเรียนติดถ้ำ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ68.7ระบุข่าวการปฏิบัติการของหน่วย ซีล ของไทย ช่วยเด็กนักเรียนติดถ้ำ รองลงมาคือ ร้อยละ 66.4 ระบุ พลังความรักความสามัคคีของคนในชาติ ร้อยละ 55.1 ระบุการปฏิบัติการของทีมงานชาวต่างชาติ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ จีน ฯลฯ ร้อยละ 47.8 ระบุการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ค้นหาเด็กนักเรียน ร้อยละ 45.5 ระบุ การใช้ความเชื่อ ความศรัทธา สิ่งเหนือธรรมชาติ ร้อยละ 32.8 ระบุ เทคนิคการนำเสนอข่าว ความน่าสนใจของการนำเสนอข่าว และร้อยละ 28.9 ระบุอื่นๆ เช่น สุขภาพ และการดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์ การพัฒนาถ้ำหลวง การใช้ประโยชน์แหล่งธรรมชาติของถ้ำหลวง เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.7 ระบุ เห็นด้วยให้ถ้ำหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ยาวตลอดจนปากถ้ำ ถึง จุดพบเด็กนักเรียนติดอยู่ในถ้ำ ในขณะที่ร้อยละ 4.3 ไม่เห็นด้วย
เมื่อถามถึง สิ่งที่นักเรียนควรทำหลังจากได้รับการช่วยเหลือจนสุขภาพดีแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.2 ระบุ ควรแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง และสถาบันหลักของชาติ รองลงมาคือร้อยละ 71.1 ระบุ ควร ขอบคุณเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการช่วยเหลือ ร้อยละ 70.4 ระบุ ขอบคุณพ่อแม่ พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ร้อยละ 68.1 ระบุ บำเพ็ญประโยชน์ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ร้อยละ 66.7 ระบุ สัญญาว่าจะมีวินัย ปฏิบัติตามระเบียบ ไม่ทำผิดกฎเกณฑ์ ร้อยละ 64.5 ระบุ สัญญาว่าจะเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ร้อยละ 59.4 ระบุ ตั้งใจเรียน ร้อยละ 57.1 ระบุ ฝึกฝนเป็นนักฟุตบอลที่เก่งของประเทศและร้อยละ 54.9 ระบุช่วยดูแลรักษา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ .-สำนักข่าวไทย