ดีเอสไอ 2 ก.ค.-ดีเอสไอ เดินหน้าเปิด 2 คดีที่รับเป็นคดีพิเศษล่าสุด คือคดีรุกหาดเจ้าไหม ซึ่งพบมีอิทธิพลท้องถิ่นข่มขู่ต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังพิสูจน์สิทธิ ส่วนคดี ”กะเหรี่ยงบิลลี่”จ่อขยายผลคราบเลือด
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่ให้ดีเอสไอรับสอบสวนคดีบุกรุกที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พื้นที่บริเวณเกาะกระดาน ม.2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และคดีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือกะเหรี่ยงบิลลี่ แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ว่า สำหรับคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ร้องขอให้ดีเอสไอเข้าสืบสวนและเสนอให้ กคพ.รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น มีการบุกรุกเข้าไปก่อสร้างรีสอร์ท
ภายหลังรับเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอจะมีอำนาจสอบสวนคดีตามกฎหมาย โดยจะเร่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนและขยายผลจากข้อเท็จจริงที่รวบรวมไว้ในชั้นสืบสวน ตลอดจนการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังเพื่อพิสูจน์ว่ามีการบุกรุกที่ดิน
ส่วนคดีการหายตัวของนายพอละจีนั้น อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้วบางส่วน เมื่อ กคพ.มีมติรับเป็นคดีพิเศษจะมอบหมายให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ รับผิดชอบการสอบสวน โดยจะนำพยานหลักฐานทั้งหมด รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาวิเคราะห์ซ้ำว่า สามารถขยายผลไปในทิศทางใดได้อีกบ้างโดยเฉพาะผลตรวจรถยนต์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งพบคราบเลือดภายในห้องโดยสารในตำแหน่งด้านหลังเบาะคนขับ แต่ผลเลือดไม่สามารถจับคู่ดีเอ็นเอได้ บอกได้เพียงเป็นคราบเลือดของมนุษย์ เพศชาย ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ จะเร่งหารือไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่าจะสามารถส่งคราบเลือดไปตรวจพิสูจน์ซ้ำ หรือส่งวัตถุพยานไปให้แลปในประเทศใดตรวจพิสูจน์ได้บ้าง
ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า กองคดีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่สืบสวนคดีบุกรุกหาดเจ้าไหมตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมาได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้จำนวนมาก ในชั้นสืบสวนพบว่ามีการข่มขู่จากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่จริง นอกจากนี้ที่ดินแปลงที่เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนผู้ครอบครองกับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื้อที่กว่า 100 ไร่นั้น บางส่วนเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์และอีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจำเป็นต้องอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง เพื่อพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
“ในอดีตบริเวณหาดเจ้าไหมมีประชาชนเข้าไปทำกินไม่มากนัก โดยผู้ครอบครองที่ดินจะมีเอกสาร สค.1 แต่ในระยะหลังมีการขยายเนื้อที่การครอบครองและทำกินเพิ่มจาก สค.1 หลายเท่าตัว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำภาพถ่ายทางอากาศมาตรวจสอบเปรียบเทียบ ซึ่งข้อมูลในศูนย์แผนที่ของดีเอสไอ ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้สามารถตรวจสอบภาพถ่ายย้อนหลังไปได้ถึงปี 2510”รองอธิบดีดีเอสไอกล่าว .-สำนักข่าวไทย