ดินแดง 26 มิ.ย.-ก.แรงงาน ร่วม 16 หน่วยงาน เดินหน้าเร่งผลิต ‘พ่อครัว- แม่ครัว-ลูกจ้างร้านอาหารไทย’ ไปทำงานต่างประเทศ หลังพบเป็นที่ต้องการไม่ต่ำกว่า 4 พันคนต่อปี สร้างรายได้ 2-9 หมื่นบาทต่อเดือน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ณ ห้องปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยพล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก โดยกำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ส.ค.2560 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลิตแรงงานในสาขาที่ต่างประเทศมีความต้องการ โดยเฉพาะพ่อครัว แม่ครัว หรือลูกจ้างร้านอาหารไทยในต่างประเทศ วันนี้(26มิ.ย.)ทางกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้ประชุมร่วมกับ16 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรการประกอบอาหารต่างๆ เป็นต้น เพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการทั้งในและต่างประเทศ
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่าแต่ละปีต่างประเทศต้องการกุ๊กไทยไม่ต่ำกว่า3,000-4,000 คน ขณะที่ไทยต้องการ 11,600 คนแบ่งเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ 3,000 คน อาชีพอิสระ 8,600 คน โดยช่วงเดือน ม.ค.2560–พ.ค.2561 มีแรงงานไปทำงานตำแหน่งกุ๊กที่ต่างประเทศแล้ว 3,628 คน เป็นกลุ่มประเทศเอเชียมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มประเทศยุโรปและตะวันออกกลาง
ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและหน่วยงานเครือข่ายสามารถดำเนินการพัฒนาฝีมือพ่อครัวแม่ครัวได้จำนวน 13,020 คน ผ่านทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ สาขาประกอบอาหารไทยไปแล้วจำนวน 3,735 คน และผ่านทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและออกหนังสือรับรองให้ทำงานในต่างประเทศได้ 290 คน
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้สะท้อนปัญหาเรื่องของสูตรอาหารไทยที่แต่ละประเทศแต่ละพื้นที่มีไม่เหมือนกัน ทำให้การรับรู้ถึงอาหารผิดเพี้ยนไป จึงเสนอให้พัฒนาหลักสูตรตำรับอาหารไทยให้มีความชัดเจน มีมาตรฐาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับการออกใบทดสอบฝีมือแรงงานของกุ๊ก ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันสอบด้านนี้เป็นจำนวนมาก บางประเทศไม่ยอมรับ เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข การทำให้ใบรับรองการผ่านการทดสอบของกุ๊กไทยจากแต่ละสถาบัน ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้วางแผน 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน ตั้งเป้าจะส่งกุ๊กไทยไปต่างประเทศทั้งหมด290 คน ใน 9 ประเทศ หาตำแหน่งงานว่างทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มทักษะ Professional Chef ส่วนระยะกลาง จะพัฒนาหลักสูตร การใช้วัตถุดิบ เพื่อให้ได้มาตรฐานความเป็นไทย .-สำนักข่าวไทย