มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23มิ.ย.- เสวนาพินิจ(รัฐ)ธรรมนูญ 2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 ชี้ฉบับปัจจุบันแก้ไขได้ยากไม่กระจายอำนาจสู่ประชาชนยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ เชื่อคง ม.44 หวังสืบทอดอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “พินิจ(รัฐ)ธรรมนูญ 2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 เราเดินถอยหลังมาไกลแค่ไหนแล้ว” โดยมีนายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตประธานรัฐสภาเข้าร่วม พูดคุยในหัวข้อปี 2560 สืบทอดเจตนารมย์ การอภิวิฒน์ 2475 หรือไม่, นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดในเรื่องของการกระจายอำนาจ จาก 2475 – 2560 ในขณะที่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านกฏหมาย และนายพริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธ์ ทายาท พลเอกหลวงเสรี เริงฤทธ์ สมาชิกคณะราษฏร์ ร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนาเชิงเปรียบเทียบเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2575 ซึ่งเป็นฉบับแรก กับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่าง รวมถึงพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริงตามเจตนารมย์หรือไม่
นายโภคิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แก้ไม่ยาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่วางกลไก ให้แก้ไขได้ยาก มีเพียงวาทะกรรมเดียวที่ยังใช้ได้ นั้นคือ อำนาจเป็นของราษฎร แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวาทะกรรม แม้จะมีการเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2474 กระทั่ง 2560 หรือ 86 ปี แต่ทางปฏิบัติผู้มีอำนาจได้ปล้นอำนาจประชาชนหมดแล้ว จึงเป็นวาทะกรรมเท่านั้น
ด้านนายชำนาญ กล่าวว่าการกระจายอำนาจในอดีต ระดับท้องถิ่น สามารถจัดการและบริหารได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาส่วนกลาง พร้อมเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนท้องถิ่นมากกว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่ ต่างตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าหรือถอยหลัง เพราะว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายมาตราที่ให้อำนาจแก่ผู้ใช้มากเกินไป โดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งนายโภคิน ระบุว่า มาตรา 44 เปรียบเสมือนมาตรา 17 ในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยตั้งข้อสังเกตุว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 เพื่อจัดการและบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาต่อไปว่า การใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. เป็นไปเพื่อหวังสืบทอดอำนาจหรือไม่ อีกทั้งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ผู้เสวนามองว่าแก้ไขได้ยาก ไม่ได้กระจายอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง ตามเจตนารมย์ ของความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงการให้สิทธิเสรีภาพ ยังถูกควบคุมและจำกัด ทั้งการแสดงความเห็น การออกมาเคลื่อนไหว พร้อมยกตัวอย่าง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาเรียบร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง ปี 2561 .-สำนักข่าวไทย