สธ.22 มิ.ย.-กรมอนามัย เผยผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมากเข้าข่ายเสี่ยงมะเร็งในช่องปาก แนะสังเกต “แดง-ขาว-แผล-ก้อน”สัญญาณเตือนระยะแรก
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า มะเร็งช่องปากเป็น1ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย โดยโรคนี้มีอัตราการตายสูง มากกว่าร้อยละ90 ของมะเร็งช่องปากเป็นชนิดสแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา(squamous cell carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงสูง พบอัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีของประชากรทั่วโลกต่ำกว่าร้อยละ 50 และสามารถพบได้ทุกอวัยวะในช่องปาก ได้แก่ ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นช่องปากใต้ลิ้น ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และส่วนบนของลำคอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมาก หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง
ส่วนสาเหตุการเกิดมะเร็งช่องปาก เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงยาเส้น ดื่มเหล้า การเคี้ยวหมาก การกินผักและผลไม้น้อย การติดเชื้อไวรัส HPV อนามัยช่องปากไม่ดี และมีฟันปลอมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
สำหรับการตรวจพบมะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจพบได้ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก หากตรวจพบและได้รับการรักษาโดยเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ โดยสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งช่องปากระยะแรกที่สามารถสังเกตรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปาก คือ
1) พบรอยโรคสีแดง หรือสีแดงปนขาวเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อช่องปาก
2) พบแผ่นฝ้าสีขาว เช็ดไม่ออก บริเวณเนื้อเยื่อช่องปาก
3) พบแผลเรื้อรังในช่องปาก ไม่ทราบสาเหตุและไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ และ4) พบก้อนในช่องปาก หรือที่ลำคอ มีลักษณะแข็งเป็นไต ไม่มีอาการเจ็บ โดยบริเวณที่ตรวจ ได้แก่ ลิ้น ใต้ลิ้น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณเตือนอื่นๆ ของมะเร็งช่องปากระยะแรกที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง เช่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก มีอาการชาที่ลิ้น ฟันปลอมที่เคยใส่ใช้ไม่ได้ หรือไม่พอดีเหมือนเดิม หากมีอาการดังกล่าว หรือตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปาก ให้ไปรับการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที.-สำนักข่าวไทย