คลัง 18 มิ.ย. – 48 ประเทศเอเชียแปซิฟิกกำหนดกลยุทธ์บริหารหนี้รับการเปลี่ยนแปลง สบน. เตรียมนำระบบบล็อกเชนซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) จัดการประชุมนานาชาติ “2018 Asian Regional Public Debt Management Forum” ระหว่างวันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2561 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้แนวคิด “Prudent Debt Management for Sustainable Growth in the age of Digital Transformation” โดยผู้แทน 48 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สบน. ธนาคารกลาง องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประมาณ 200 คน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างกันในการบริหารหนี้สาธารณะ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการเงินและการคลังของประเทศและรองรับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องร่วมกันว่าการบริหารหนี้สาธารณะในอนาคตภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีความสำคัญและจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารหนี้ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น แนวทางการระดมทุน แนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอแนวคิดหลากหลาย และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นสมาชิกเอดีบีขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อรองรับการบริหารหนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ สบน.ให้ความสำคัญทั้งเนื้อหาทางวิชาการและการส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาคในทุกด้าน อาทิ การคัดสรรของที่ระลึกจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุม และการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมแรงร่วมใจอย่างดียิ่งจากส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในอำเภอเกาะสมุย ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างรู้สึกอบอุ่นจากการต้อนรับ และประทับใจในศิลปะวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ในภูมิภาค และสนับสนุนภาพลักษณ์อันดีของประเทศ
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผน สบน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนาระบบการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล โดยจะนำระบบบล็อกเชนมาร่วมใช้งาน เพื่อความสะดวก รวมเร็ว และทันสมัยมากยิ่งขึ้น
“การนำระบบดังกล่าวมาใช้งานนั้นจะช่วยให้รู้จักลูกค้ามากขึ้นว่าเป็นกลุ่มลูกค้าช่วงอายุเท่าไหร่ และปัจจุบันฐานลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ รวมถึงวงเงินที่ลูกค้าซื้อเปลี่ยนแปลงอย่างไร หากนำระบบดังกล่าวพัฒนาไปสู่ระบบโมบายได้จะทำให้สามารถแจ้งเตือนลูกค้าได้ เช่น การแจ้งเตือนกรณีที่พันธบัตรใกล้ครบกำหนดอายุไถ่ถอน เป็นต้น” นางจินดารัตน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย