กรุงเทพฯ, พัทลุง 11 มิ.ย.-ช่วง 1-2 เดือนนี้ มีข่าวการทลายเครือข่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายมากมาย ทั้งการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ การลักลอบใส่สารอันตราย ที่ส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภค และมีการฟ้องคดีแบบกลุ่มไปยังศาลคดีผู้บริโภค คดีสำคัญคือ คดีที่ผู้เสียหายหลายคนใช้โลชั่นผสมสารโคลเบทาซอล (Clobetasol) ซึ่งแพทย์ผิวหนังยืนยันเป็นอันตรายต่อผิวขั้นรุนแรง ไม่ได้ช่วยขาวใส และโลชั่นนี้ก็ยังมีวางขายตามท้องตลาด ติดตามในรายงานพิเศษ “อันตรายสุขภาพ ฟ้องศาลคดีผู้บริโภค” วันนี้เสนอตอนแรก
มีผู้เสียหายหลายรายที่ได้รับอันตรายจากการกิน การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านออนไลน์ การผลิตด้อยคุณภาพ ขาดความรับผิดชอบ อาจส่งผลต่อสุขภาพหรือต่อชีวิต
ปี 59 หญิงสาววัย 21 ปี ชาวตรัง เสียชีวิตจากการกินอาหารเสริมหลายชนิด ในที่เกิดเหตุพบทั้งยาลดความอ้วน ยาเร่งผิวขาว รวมทั้งยาที่อยู่ในรูปแคปซูลอ้างมีส่วนผสมสารสกัดหมามุ่ยอินเดียยี่ห้อหนึ่ง ครอบครัวยื่นฟ้องบริษัทผลิตแคปซูลหมามุ่ยอินเดียต่อศาลจังหวัดตรัง แพทย์ผู้ชันสูตรศพรายงานเบื้องต้นว่า หญิงสาวเสียชีวิตจากอาการแพ้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าแพ้สารตัวใด
ส่วนหญิงชาวพัทลุงคนนี้ มีร่องรอยผิวแตกลายทั่วร่างกาย โดยเฉพาะขาและแขน เป็นผลข้างเคียงจากการใช้โลชั่นที่อ้างสรรพคุณว่าใช้แล้วขาวใส แต่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แม้หยุดใช้ไปนาน 1 ปีแล้ว แต่สภาพบนผิวหนังยังปรากฏชัด
เธอซื้อโลชั่นที่ตลาดใกล้บ้าน คำโฆษณาอ้างมีส่วนผสมของไข่มุกและกลูตาไธโอน เพื่อผิวขาว ซื้อใช้ขวดแรก ราคา 1,500 บาท เพียง 2 สัปดาห์ ผิวขาวขึ้นอย่างชัดเจน จึงซื้ออีก 2 ขวด ขณะที่มีอาการแสบ คันตามผิวหนัง แล้วผิวก็ค่อยๆ แตกลาย ช้ำแดง เป็นรอยลึกเพิ่มมากขึ้น แพทย์ชี้ว่าเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับสารสเตียรอยด์ จ่ายค่ารักษาไปแล้วกว่า 40,000 บาท ใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการ แต่แพทย์ระบุร่องรอยจากการแพ้นี้จะไม่หายขาด ตอนนี้เธอต้องออกจากงานประจำรายได้หลายหมื่นและว่างงาน
ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง บอกว่า สภาพผิวแตกลายจากสารโคลเบทาซอล เป็นสเตียรอยด์ กลุ่มที่มีระดับความรุนแรงมาก แพทย์ผิวหนังใช้สารนี้เพื่อต้านการอักเสบ แต่มีข้อจำกัดและจะไม่ใช้เกิน 2 สัปดาห์ แม้หากจะแก้ไขด้วยการใช้เลเซอร์ แต่ผิวก็จะไม่กลับมามีสภาพเดิม ถือเป็นพิษภัยที่น่ากลัวจากการใช้เครื่องสำอางที่ใส่สารอันตรายเช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน และสเตียรอยด์ กลุ่มโคลเบทาซอลแบบนี้
โลชั่นผสมสารโคลเบทาซอลเป็นอันตรายต่อผู้ริโภค แต่พบยังมีวางขายตามท้องตลาด ขณะที่ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณ ทำให้หน้าขาว ลดฝ้ากระจุดด่างดำ เช่น ครีมพม่า ที่เคยเป็นที่นิยมในออนไลน์ ก็มีตัวอักษรปรากฏชัดว่ามีสารโคลเบทาซอล ก็มีผู้เสียหายจากการใช้ครีมนี้ หรือที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเตือนยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ที่นำเข้าจากลาว ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา อาจมีสเตียรอยด์ปนเปื้อน เหล่านี้เป็นตัวอย่างของอันตรายจากผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางและยาที่ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายในยุคออนไลน์ และเมื่อเกิดผลกระทบต่อสุขภาพสามารถฟ้องศาลคดีผู้บริโภคได้ทุกราย.-สำนักข่าวไทย