กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ย้ำไม่มีการซื้อขายตามข่าวในโลกออนไลน์ เผยผิดทั้ง กม.-จริยธรรม-ศีลธรรม ไทยมีระบบการบริจาคอวัยวะ ขออย่าหลงเชื่อขบวนการตลาดมืด แนะตำรวจหาเบาะแสต่อ หากมีขบวนการนี้จริง
รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย แถลงข่าวจากกรณีที่มีการเผยแพร่เรื่อง “การซื้อขายอวัยวะ” ตามกระแสข่าวออนไลน์ซึ่งทำให้เกิดการเข้าใจผิดเป็นวงกว้างว่าอวัยวะที่บริจาคสามารถซื้อ-ขายได้ โดยระบุว่าตามที่แชร์กันก็ยังไม่เห็นข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการซื้อขายในตลาดมืดประเทศไทยจากที่เห็นราคาบอกว่าเท่านั้นเท่านี้
การซื้อขายอวัยวะในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม ไม่สมควรกระทำ อย่างตามกฏหมายของไทยมีหลายข้อที่มีโทษถึงจำคุกและโทษปรับและไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ซื้อขายผู้ที่เกี่ยวข้องในหน้าแพทย์หรือแม้แต่ตัวโรงพยาบาลที่ทำเรื่องดังกล่าวก็มีความผิด ซึ่งการกระทำดังกล่าว ผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา และแพ่ง ที่เกี่ยวข้อง ผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่วน พ.ร.บ.การปลูกถ่ายอวัยวะนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นร่าง กม.โดยหาก กม.ที่สำเร็จก็จะช่วยส่งเสริมให้ระบบการบริจาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอ้างอิงโทษความผิดมีโทษจาก กม.การค้ามนุษย์ฯ ที่มีโทษหนัก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระเบียบควบคุม รพ.และแพทย์ ของแพทยสภาที่มีข้อบังคับจริยธรรมและวิชาชีพฉบับ 2566 โดยยอมให้มีการปลูกถ่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

ซึ่งปัจจุบันมี รพ.ในระบบที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะของสภากาชาด 40 กว่าแห่ง มีระเบียบขั้นตอน มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในเรื่องของความปลอดภัย และต้องไม่ใช่เป็นการซื้อขาย ซึ่งจะมีคณะกรรมการรับรองโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกในการปลูกถ่าย มีการตรวจเยี่ยม รพ. ทุก 5 ปี เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
โดยจากข่าว หากปล่อยให้มีการซื้อขายจริงเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม เป็นการเอาเปรียบ ซึ่งผู้ที่มาขายที่คงไม่มีใครอยากจะเจ็บตัวนำอวัยวะไปให้ผู้อื่น แต่บางรายอาจจะถูกขู่ หรือถูกหลอกลวง อ้างจะให้เงินแล้วบอกปลอดภัย แต่ในความจริงไม่เป็นแบบนั้น มีบทเรียนในต่างประเทศ พอหลงเชื่อก็ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับเงินที่หวัง ไม่ได้รับการดูแล กลายเป็นโรคเรื้อรัง เดือดร้อนหนักกว่าเดิม กลุ่มเหล่านี้มักเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยการลักลอบทำก็เสี่ยงติดเชื้อ เป็นอันตรายกับทั้งผู้ให้และผู้รับด้วย ส่วนในเคสที่เป็นญาติกัน แพทย์ต้องประเมินสุขภาพก่อน ซึ่งตามหลักต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้ให้เป็นอันดับหนึ่ง
รองผู้อำนวยการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 67 มีผู้เสียชีวิตที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 336 ราย สามารถนำไปปลูกถ่ายได้ 800 กว่าราย ในปี 68 คาดว่าจะมีจำนวนผู้แสดงเจตจำนงบริจาคเพิ่มขึ้นอาจถึง 600 ราย ก็จะทำให้มีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายได้มากกว่า 1,000 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่แสดงความเจตจำนงเพิ่มขึ้นในแต่ละปีเช่นกัน
ผู้ที่ยินยอมให้นำอวัยวะออกไปจากร่างกาย ต้องมั่นใจว่าจะมีชีวิตต่อไปได้ ซึ่งต้องมีการดูแลสุขภาพอย่างดี ดังนั้นการลักลอบทำจึงไม่ปลอดภัย และย้ำว่า อวัยวะที่ได้รับบริจาคจากสภากาชาดไทย ผู้รับไม่ต้องเสียเงินใดๆ ในค่าอวัยวะ สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ใน รพ.รัฐตามสิทธิ
นางสาวอมรรัตน์ สุริยะบุญ อายุ 39 ปี อาชีพครู หนึ่งในที่มาบริจาคอวัยวะวันนี้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ บอกว่า ตั้งใจมา บริจาคร่างกาย ดวงตา และอวัยวะ ดูข้อมูลจากสภากาชาดมาก่อน มีความคิดว่า หากอนาคตเราไม่อยู่แล้ว ก็อยากให้ร่างกายเป็นประโยชนกับคนอื่น ซึ่งก็ได้แจ้งบอกปรึกษากับครอบครัวมาแล้ว ส่วนที่มีข่าวว่ามีการซื้อขายอวัยวะในตลาดมืดก็เห็นข่าว แต่ไม่เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลการบริจาคอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนผู้ลงทะเบียนรอรับอวัยวะกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 อยู่ที่ 7,555 คน แบ่งเป็น ไต มากที่สุด 7,019 คน, ตับ 430 คน, หัวใจ 45 คน, ตับอ่อน-ไต 28 คน, หัวใจ-ปอด 14 คน, ตับ-ไต 8 คน, ปอด 7 คน, หัวใจ-ไต 3 คน และตับอ่อน 1 คน
สภากาชาดไทยยังเชิญชวนผู้ที่ต้องการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย หรือตาม รพ.ต่างๆ ที่เปิดรับแจ้งหรือที่ เว็บไซต์ https://organdonate.redcross.or.th/ หรือผ่าน แอปฯ หมอพร้อม ซึ่งสามารถเลือกบริจาคเฉพาะบางอวัยวะได้ และสามารถถอนเจตจำนงเมื่อใดก็ได้. -417-สำนักข่าวไทย