กรุงเทพฯ 11 มิ.ย. – นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้การพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของ 2 ผู้นำ “ทรัมป์-คิม” มี 2 ประเด็นน่าจับตา
นายนภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพบกันครั้งแรกของผู้นำสหรัฐและเกาหลี ประเด็นแรกที่คาดการณ์คือ การยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด แม้ว่าสงครามเกาหลีจะสิ้นสุดไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2496 แต่เป็นการยุติโดยสนธิสัญญาหยุดยิง ไม่ใช่สนธิสัญญาสันติภาพ เพราะฉะนั้นเทคนิคถือว่าสงครามเกาหลียังอยู่ ถ้าหากสามารถทำสนธิสัญญาสันติภาพได้สำเร็จ ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกาหลีเหนือได้รับการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งสนธิสัญญาสันติภาพนี้มีการพูดกันตั้งแต่ครั้งที่ผู้นำเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้พบกันเมื่อปลายเดือนเมษายน และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยเชิญสหรัฐกับจีนมาร่วมด้วย หากแต่เกาหลีเหนือกับสหรัฐยังไม่เคยพบกันเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน เพราะฉะนั้นถ้าสหรัฐกับเกาหลีเหนือสามารถพูดคุยกันได้ เส้นทางที่จะนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสันติภาพก็น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง คือ การให้สหรัฐเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ เพราะขณะนี้สหรัฐกับเกาหลีเหนือไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต แต่เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ทางการทูตทั้งกับสหรัฐ จีน และรัสเซีย ทำให้เกาหลีใต้ได้เปรียบเกาหลีเหนือด้านการทูตอยู่มาก เกาหลีเหนือจึงพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐเพื่อความสมดุล และถ้าสหรัฐเปิดความสัมพันธ์ก็เท่ากับว่ารับรองสถานะของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ แต่สหรัฐจะตกลงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะสหรัฐ อาจจะนำเรื่องนี้ไปผูกกับเรื่องอื่น เช่น การยุติโครงการนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง หรือการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุดซึ่งเป็นเรื่องยาก แน่นอนว่าการเปิดความสัมพันธ์ต้องมีขั้นมีตอน การลดอาวุธนิวเคลียร์มันก็มีขั้นมีตอนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การพบกันวันที่ 12 มิถุนายนนี้แล้วจะยุติอาวุธนิวเคลียร์คงจะเป็นไปไม่ได้ คงต้องคุยกันในเรื่องของกระบวนการก่อน และหากเกาหลีเหนือตอบตกลงลดจำนวนขีปนาวุธ หรือลดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือจะขอแลกกับอะไร คงไม่ใช่แค่การเปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้นอีก เช่น เกาหลีเหนืออยากให้สหรัฐถอนกำลังทหารออกจากเกาหลีใต้ทั้งหมดโดยเฉพาะทหารบกที่มีมากกว่า 30,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะทหารอเมริกันเป็นสิ่งที่ค้ำประกันความมั่นคงของเกาหลีใต้อยู่ และไม่ได้ทำหน้าที่แค่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ดูแลภูมิภาคนี้โดยรวมด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความต้องการให้สหรัฐยุติการซ้อมรบ ซึ่งทำกับเกาหลีใต้เป็นประจำทุกปี เพราะฉะนั้นโจทย์ตรงนี้ยากมากหรือถ้าเป็นไปได้ คาดว่าน่าจะเป็นการประนีประนอมกันลักษณะแบบคุยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละขั้น ไม่ใช่กระบวนการแบบเบ็ดเสร็จ ยกเว้นเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
นายนภดล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการพบกันของผู้นำทั้ง 2 ประเทศครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นผลดีต่อการค้า การลงทุน และที่สำคัญต่อสันติภาพของโลก ส่วนประเทศไทยหากเกาหลีเหนือเปิดประเทศมากขึ้นก็จะสามารถทำมาค้าขายได้ เพราะเกาหลีเหนือมีประชากรกว่า 20 ล้านคน และมีแร่ธาตุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ในด้านเศรษฐกิจ หากเปิดประเทศก็ยังคงต้องการการลงทุนจากหลากหลายประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้ไทยมีลู่ทางในการเข้าไปลงทุน เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เป็นอย่างดี และทั้ง 2 ประเทศก็มีสถานทูตอยู่ในไทยอีกด้วย .-สำนักข่าวไทย