สธ. 31 พ.ค.- กรมอนามัย เตือนระวังกินเห็ดช่วงหน้าฝน เลือกที่กินเป็นประจำ หลีกเลี่ยงเห็ดแปลกที่เป็นภัยถึงชีวิต โดยเฉพาะที่ขึ้นในช่วงหน้าฝนพบเห็ดพิษมาก
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ตามหลักโภชนาการเห็ดเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีใยอาหาร โปแตสเซียมสูง มีโซเดียมและน้ำตาลต่ำและยังอุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ซิลิเนียม ทำหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โปแตสเซียมทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ สมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ มีทองแดง ทำหน้าที่ช่วยเสริมการทำงานของธาตุเหล็ก
นอกจากนี้เห็ดยังประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์ที่จะทำงานร่วมกับแมคโครฟากจ์ ทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมถึงพวกไวรัสและแบคทีเรียอื่น ๆ ซึ่งเห็ดที่มีโพลีแซคคาไรด์สูง ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดหูช้าง และเห็ดกระดุม เป็นต้น และยังมีเห็ดอื่นๆ ที่นิยมนำมาบริโภค เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดแชมปิญอง เห็ดโคน เห็ดออรินจิและเห็ดเข็มทอง โดยวิธีการก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหาร ต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายๆ ครั้ง หรือล้างตามขั้นตอนการล้างผัก หลังจากนั้นค่อยนำมาปรุงอาหาร และปรุงให้สุกทุกครั้ง
“ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงพฤศจิกายนของทุกปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบได้บ่อยคือเห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงเห็ดที่มีลักษณะที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารหรือกินเห็ดดิบ ควรล้างให้สะอาดทุกครั้งและปรุงสุกก่อนกินเสมอ”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย