กรุงเทพฯ 22 พ.ค. – ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพราะนี่เป็นสิ่งรองรับว่า “ชีวิตคู่” จะได้รับการรับรองจากกฎหมาย
กว่า 45 ปีที่ใช้ชีวิตเป็นชาย ทั้งที่ใจเป็นหญิง ไม่ใช่เรื่องง่าย ภายใต้ความกดดันของสังคมและความคาดหวังของครอบครัว “พอลลีน” ต้องสวมบทบาท “พินิจ งามพริ้ง” ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มเชียร์ไทย ชายผู้สมบูรณ์แบบ สามารถปลดปล่อยความเป็นหญิงได้แค่เพียงในความฝันเท่านั้น เมื่อหมดความอดทน จึงตัดสินใจทิ้งชีวิต ชื่อเสียงของนายพินิจ บินข้ามประเทศไปที่สหรัฐอเมริกา เลือกใช้ชีวิตในแบบพอลลีน
แม้วันนี้จะกล้าแต่งหญิงตามเพศสภาพที่ใจต้องการได้เต็มที่ ครอบครัวยอมรับ แต่ไม่วายถูกนินทา เหยียดทางสายตา ซึ่งการแสดงออกถึงตัวตนว่ายากแล้ว การทำให้สังคมยอมรับยากกว่า โดยเฉพาะเรื่องความรักของคนหลากหลายทางเพศ ที่หากรักใครก็อยากจะแต่งงาน จดทะเบียนสมรสได้เฉกเช่นคู่ชายหญิงทั่วไป
ไทยมีคนหลากหลายทางเพศอยู่ราวร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด แต่กฎหมายให้สิทธิจดทะเบียนชายหญิง อายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยผู้ปกครองให้ความยินยอม แต่กฎหมายไทยยังไม่รองรับคู่เพศเดียวกัน ในขณะที่ 26 ประเทศทั่วโลกให้การยอมรับแล้ว
ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย บอกว่า ทำให้ชีวิตคู่มีข้อจำกัด ขาดสิทธิทางกฎหมาย ทั้งมรดก ทรัพย์สิน การทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน การรักษาพยาบาล การเปลี่ยนสัญชาติ รวมถึงการรับบุตรบุญธรรม แม้ปี 2555 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันโดยกำเนิด ที่บรรลุนิติภาวะ มีสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันได้ แต่ต้องหยุดชะงักเมื่อปี 2557 ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกรีเซตใหม่ อยู่ระหว่างการหารือของคณะอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต
การสร้างครอบครัวจะเริ่มต้นจากความรักของคน 2 คน ตัดสินใจมาอยู่ร่วมกัน แต่การจดทะเบียนก็สำคัญ เพราะเป็นหลักประกันของชีวิตคู่ ที่ไม่ว่าเพศใดต้องได้รับ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน. – สำนักข่าวไทย