กรุงเทพฯ 16 พ.ค.- “อภิสิทธิ์-พงศ์เทพ” ชี้รัฐธรรมนูญปราบโกงแค่การตลาด โฆษณาชวนเชื่อ ไม่เปิดช่องประชาชนมีส่วนร่วม
เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำเพื่อไทย และนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมแสดงความคิดเห็น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งฉายาว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงถือเป็นการตลาดที่ดีมาก เพราะจับประเด็นการทุจริตหรือการโกงที่สังคมตั้งข้อรังเกียจในช่วงการลงประชามติรัฐธรรมนูญ แต่ตนเป็นคนหนึ่งที่ลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นห่วงว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตหลายเรื่องอาจจะไม่ได้ผลตามที่บอกไว้ เพราะมีทั้งส่วนที่ไปในทางบวกและส่วนที่น่าเป็นห่วง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนที่น่าเป็นห่วงในประเด็นเรื่องโครงสร้าง เช่น การเอากระบวนการถอดถอนทางการเมืองออกไป ทำให้ กระบวนการตรวจสอบกลับไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จบแล้วก็แล้วไป แต่ถ้าจะตั้งเรื่องสู่ ป.ป.ช. หรือส่งเรื่องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะเป็นอำนาจของผู้มีอำนาจ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริต และเพิ่มภาระเรื่องจริยธรรมด้วยนั้น จะทำให้การทำงานของ ป.ป.ช. ยากลำบากขึ้น เพราะการทุจริตกับเรื่องการผิดจริยธรรม แม้จะเป็นเรื่องเลวร้ายเหมือนกัน แต่ลักษณะไม่เหมือน และมาตรการดำเนินการก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะกลายเป็นการส่งจริยธรรมขึ้นสู่ระบบตุลาการ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมาย และไม่ยอมรับการตัดสิน
หาก ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการไม่ชอบเสียเอง จะต้องไปยื่นผ่านประธานรัฐสภา แต่เมื่อประธานรัฐสภามาจากฝ่ายรัฐบาล และหากเกิดการทุจริตจากฝ่ายรัฐบาล ป.ป.ช. ไม่ตรวจสอบ พอจะเล่นงาน ป.ป.ช. ประธานรัฐสภาบอกว่าไม่มีมูล แล้วจะทำอย่างไร
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนสิ่งแรกที่จะทำได้คือการช่วยตรวจสอบทรัพยสินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีการเปิดเผย แต่กฎหมายใหม่กลับกำหนดการเปิดเผยทำโดยสรุป ซึ่งไม่ทราบว่าสรุปอย่างไร แต่จะทำให้การตรวจสอบโดยสังคม และประชาชน ลดน้อยลง จึงมีคำถามว่าจะส่งเสริมให้คนไปตรวจสอบอย่างไร
“รัฐบาลปราบโกงทั้งนั้น แต่ปราบโกงฝ่ายตรงข้าม บางชุดฝ่ายตรงข้ามไม่โกงยังยัดเยียดข้อหาให้ ซึ่งการจะวัดว่าปราบโกงจริงหรือไม่ ต้องสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา โดยสังคมต้องมีส่วนร่วม และสามารถกดดันให้การปราบโกงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพ ได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งการใช้กฎหมายในทางปิดปาก ข่มขู่สื่อมวลชน ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ด้านนายพงศ์เทพ กล่าวว่า เวลาใช้คำว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ การใช้คำว่าปราบโกงไม่ตรงเท่าไหร่ ต่เป็นการโกงอำนาจประชาชนมากกว่า ทั้งอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งสำคัญๆ และอาจจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญส่งเสริมการโกงหรือไม่เพราะในมาตรา 279 ได้รับรองการกระทำของ คสช.ไว้ ซึ่งจะมีการยื่นตีความในอนาคตว่าการกระทำของ คสช.ทุกอย่างจะชอบด้วยกฎหมายรวมถึงเรื่องที่มีการทุจริตด้วยหรือไม่
“ผมมองว่าการทุจริตเกิดจากผู้มีอำนาจ ดังนั้นควรจัดระบบการตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวาง รวมทั้งตรวจสอบองค์กรที่เข้าไปตรวจสอบผู้มีอำนาจด้วย เพราะปัจจุบันกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเสียไปหมด แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรตรวจสอบการทุจริตทั้งองค์กรอิสระ และศาล แต่ก็มาจากความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในอนาคตก็มาจาก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ดังนั้นหากคนใน คสช.เข้ามามีอำนาจอีกคนในองค์กรอิสระจะสบายใจหรือไม่ ในการตรวจสอบรัฐบาลในอนาคต”นายพงศ์เทพ กล่าว
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่าการชี้ช่องเบาะแส ขณะที่การกำหนดตำแหน่งยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินควรกำหนดในหลายตำแหน่ง ไม่ใช่กำหนดเพียงไม่กี่ตำแหน่งเหมือนในปัจจุบัน และควรจะเปิดเผยทุกตำแหน่งสู่สาธารณะชนให้ประชาชนสามารถเข้ามาร่วมตรวจสอบ รวมทั้งต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อตัดขั้นตอนที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น ทั้งการใช้ดุลยพินิจซึ่งเป็นที่มาของการทุจริต หรือการหาประโยชน์
ด้านนายบรรเจิด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปราบโกงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญวางโครงสร้างและกลไก แต่ไม่ใช่ตัวปฏิบัติจึงปราบโกงไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงทำได้อย่างเดียวคือ ป้องกันคนโกงไม่ให้เข้ามาเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับให้น้ำหนักไปที่มาตรการปราบปรามการทุจริตอย่างเดียว และไม่เปิดช่องให้กลไกทางการเมืองทำหน้าที่ ทำให้ทุกเรื่องถูกโยนมาจบที่องค์กรอิสระ ทั้งที่การปราบปรามการทุจริตอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กลไกมีประสิทธิภาพ
นายบรรเจิด กล่าวว่า ตนเห็นว่าเบื้องต้นควรเริ่มลงโทษทางวินัย ต่อมาใช้มาตรการทางแพ่ง และท้ายสุดจึงค่อยดำเนินการทางอาญา ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่เอาทุกอย่างไปผูกไว้กับ ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ที่ระบุว่า หากเกิดการทุจริตในหน่วยงานราชการ ต้องดำเนินการสอบสวนภายในเวลากำหนด ซึ่งมตินี้ควรต้องพัฒนาเป็นกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการปราบปรามการทุจริตด้วย ดังนั้นประสิทธิภาพการลงโทษ คือหัวใจสำคัญของการปราบปรามการทุจริต .-สำนักข่าวไทย