ราชภัฎบุรีรัมย์ 8 พ.ค. – ภาคเอกชนเตรียมเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจอีสานตอนล่าง “นครชัยบุรินทร” ทั้งด้านเกษตร-โครงสร้างพื้นฐาน-การค้าชายแดน-ท่องเที่ยว พร้อมดันบุรีรัมย์ศูนย์กลางการแพทย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน เพื่อพิจารณาแผนเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพื่อรวมแผนทั้ง 4 จังหวัด จึงใช้ชื่อ “นครชัยบุรินทร์” เพื่อเชื่อมโยงกันทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งการคมนาคม รถไฟทางคู่ แหล่งท่องเที่ยว สินค้าชุมชน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมเสนอแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครชัยบุรินทร์) ตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2561- 2564) จำนวน 121 โครงการ งบประมาณรวม 20,706 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 73 โครงการ งบประมาณ 3,392.65 ล้าน บาท อาทิ โครงการแก้มลิงลุ่มน้ำชี เพื่อป้องกันอุทกภัยในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง โครงการยกระดับเมืองนวัตกรรมอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Food Innopolis 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 21 โครงการ งบประมาณ 11,824.45 ล้านบาท เช่น โครงข่ายคมนาคมทางถนน 14 โครงการ อาทิ งานขยายทางหลวงหมายเลข 2445 ตอน บุรีรัมย์-ประโคนชัย ระหว่าง กม.10+750-กม.41+550 ระยะทาง 29.90 กิโลเมตร จาก 2 ช่อง เป็น 4 ช่องจราจร โครงการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนในกลุ่มจังหวัด โครงการปรับปรุงสนามบินบุรีรัมย์เป็นสนามบินศุลกากร เครื่องบินขนาดใหญ่และนักท่องเที่ยว ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่
3. ด้านการค้า การลงทุนและการค้าชายแดน 4 โครงการ งบประมาณ 1,370 ล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง Korat ICD : Inland Container Depot 4. ด้านการท่องเที่ยว 5 โครงการ งบประมาณ 496 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา โครงการพัฒนาและฟื้นฟูเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและการท่องเที่ยว 5. ด้านคุณภาพชีวิต 18 โครงการ งบประมาณ 3,622 ล้านบาท เช่น โครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โครงการศูนย์ดูแลส่งเสริมและฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุจังหวัดบุรีรัมย์
ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์เสนอแผนรองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลก การจัดตั้งศูนย์กลางทางการแพทย์ของภาคอีสานใต้ ขยายโรงพยาบาลศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงการเสนอขยายการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน และสนามบินบุรีรัมย์ให้เป็นสนามบินนานาชาติ เพื่อขยายอาคารผู้โดยสาร ขยายลานจอดจาก 80 x 120 เป็น 120 x 140 เมตร เพิ่มทางขับอีก 1 เส้นทาง ปัจจุบันสนามบินบุรีรัมย์มีเที่ยวบินไป-กลับ 6 เที่ยว/วัน ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค มีโครงการทำนาแปลงใหญ่ การปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง การทำเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ประปาหมู่บ้าน ประปาท้องถิ่น เนื่องจากขณะนี้ อ.ประโคนชัย นางรอง ลำปลายมาศ บ้านกรวด ได้พัฒนาตัวของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเสนอแผนพัฒนาโครงการแก้มลิงที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในชุมชน 11 อำเภอ การเสนอแนวทางพัฒนาการระบายน้ำในเขตเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม
ด้านการพัฒนาการค้าชายแดน เพื่อก่อสร้างเส้นทางสำคัญอำเภอประโคนชัย เชื่อมกับอำเภอบ้านกรวดเข้าสู่ช่องสายตะกู โครงการก่อสร้างด่านชายแดนศุลกากร บริเวณด่านชายแดนช่องจอม และการก่อสร้างถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 2 เส้นทาง รวมถึงข้อเสนอพัฒนาแหล่งน้ำทางการเกษตร 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถานีสูบน้ำที่บริเวณ ตำบลคำหุง อำเภอโนนนารายณ์ เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม และโครงการสร้างสถานีสูบน้ำและบ่อกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ช่วงหน้าแล้ง การยกระดับ “การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงวัย” ในโรงพยาบาลนางรอง ให้เป็นศูนย์รวมการบริการทางสุขภาพในอีสานใต้กว่า 19 อำเภอ จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และก่อตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ อีกประเด็นคือการพัฒนาการท่องเที่ยว ห้วยจรเข้มาก และห้วยตลาด รวมถึงการพัฒนาไบก์เลน รอบอ่างห้วยจรเข้มาก และอ่างห้วยตลาด
นอกจากโครงการหลักที่จะขอเพิ่มสถานีจอดรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ณ อำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา เพื่อให้มีจุดเชื่อมต่อไปยังจังหวัดชัยภูมิ จ.นครราชสีมา ยังมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย และการพักสินค้า รวมถึงเป็นเมืองศูนย์ประชุม (MICE City) ข้อเสนอที่ จังหวัดเสนอมา จึงประกอบไปด้วย 1. โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่และจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ความจุ 15,000 คน มูลค่า 1,200 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างศูนย์รวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง (Korat ICD) แผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค มูลค่าการลงทุน สำหรับการออกแบบ 70 ล้านบาท
3. เร่งดำเนินการระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองโคราช LRT ซึ่งได้ออกแบบไว้แล้ว 4. การพัฒนาเส้นทางเชื่อมจุดขนถ่ายสินค้า (CY) อ.บัวใหญ่-ชัยภูมิ เป็นถนน 4 เลน มูลค่า 1,200 ล้านบาท 5. โครงการผันน้ำด้วยระบบท่อ จากอ่างเก็บน้ำหนองกก ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง แก้ปัญหาภัยแล้งที่ อ.พระทองคำ ระยะทาง 11 กม. ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท สามารถแก้แล้งซ้ำซากในพื้นที่ดังกล่าว และ 6. โครงการโลกของช้าง (Elephant World) โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรตินครราชสีมา เป็นอุทยานธรณีโลกซึ่งกำลังนำเสนอต่อยูเนสโก เสนอของบไป 80 ล้านบาท รวมเสนอของบประมาณดำเนินการทั้ง 6 โครงการเป็นเงินทั้งสิ้น 2,480 ล้านบาท สำหรับการเส้นทางเชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ เช่น จากจังหวัดชัยภูมิ มายังโรงพยาบาลบัวใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมจุดขนถ่ายสินค้า (CY) อ.บัวใหญ่-ชัยภูมิ เป็นถนน 4 เลน มูลค่า 1,200 ล้านบาท ยังมีโครงการแก้มลิงลุ่มน้ำชี เพื่อป้องกันอุทกภัยในจังหวัดชัยภูมิ จากงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท
ด้านกระทรวงพาณิชย์รับฟังความเห็นจากภาครัฐและเอกชนของจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะเป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา จึงต้องการพัฒนาสินค้าและสร้างแบรนด์บุรีรัมย์ ด้วยการยกระดับและการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยมเป็นของฝากของที่ระลึก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป และผ้าไหม หวังเชื่อมโยงสินค้าชุมชนกับการท่องเที่ยว นำขึ้นห้างโมเดิร์นเทรด และร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีอยู่กว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการนำสินค้าไปจำหน่ายบนเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น อาลีบาบา เจดีดอทคอม หวังนำสินค้าสำคัญเช่น ข้าว และทุเรียน และสินค้าแปรรูปเกษตรอื่น การผลักดันให้จุดผ่อนปรนทางการค้าช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด เป็นด่านถาวรเพื่อส่งเสริมและผลักดันการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นด่านที่มีโอกาสทางการค้าสูง โดยเฉพาะการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาสูงถึง 125,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพร้อมหนุนการท่องเที่ยวเมืองรองภาคอีสาน เนื่องจากแทบทุกจังหวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองมีเพียงนครราชสีมาและเขาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก การประชุม ครม.นอกสถานที่อีสานตอนล่าง จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ครั้งนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องการส่งเสริม เพราะหลายจังหวัดมีจุดเด่น มีศักยภาพ ไม่ต้องก๊อบปี้จังหวัดอื่น เช่น ถนนคนเดินเซาะกราว มีเอกลักษณ์ทั้งวัฒนธรรมการท่องเที่ยว อาหารอร่อย แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สนามกีฬารูปแบบใหม่ทันสมัย จึงต้องการเดินหน้าส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองเกือบทั้งหมด เพื่อดึงศักยภาพ จุดเด่นให้เป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว จากเดิมมีโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว 100-200 โครงการต่อปี เพิ่มเป็น 700 โครงการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้เติบโตเหมือนกับต่างประเทศ แม้จะใช้เวลาแต่อีกไม่นานการท่องเที่ยวเมืองรองจะเติบโตขึ้น.-สำนักข่าวไทย