กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – ทีมข่าวสำนักข่าวไทย เกาะติดการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตต่อเนื่อง ล่าสุดพบข้อมูลว่า มีการโอนเงินให้กับโรงเรียนอื่นถึง 4 แห่ง ที่ไม่ใช่กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หรือโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจมีการทุจริตก่อนปี 2548 ขณะเดียวกัน พบบัญชีวัดเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับโอน
กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเด็กยากจนในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ปมทุจริตที่คาดว่าเริ่มในปี 2548 อาจไม่เป็นเช่นนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เดิมปี 2545-2548 กองทุนฯ มีมติให้เงินทุน 1,500 บาท แก่นักเรียน ม.ต้น แต่ปี 2547 มีมติพิเศษจากคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ให้จ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมให้นักเรียนทุนเดิมที่ศึกษาต่อระดับ ม.ปลาย รายละ 10,000 บาท และระดับปริญญาตรี 15,000 บาท กำหนดให้ครั้งเดียว และคณะกรรมการโอนเงินให้เด็กโดยตรง ไม่ผ่านสถานศึกษา ซึ่งมีข้อสังเกตว่า มี 4 โรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ได้รับเงินจากกองทุนฯ ด้วย
1 ใน 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย แต่พบความผิดปกติ เนื่องจากได้รับเงิน 54,000 บาท ผ่านการโอน 4 ครั้ง เข้าบัญชีโรงเรียน โดยกองทุนฯ แจ้งเพียงแค่ให้คัดเลือกนักเรียนยากจน ไม่กำหนดจำนวนคน จำนวนเงิน ตลอดจนระดับชั้นเรียน ซึ่งเจ้าหน้าที่โรงเรียนที่ดูแลกองทุนฯ ถามกลับไป ผู้ดูแลกองทุนฯ คือ นางรจนา สินที โดยนางรจนา ระบุให้ทุนรายละ 1,500 บาท ซึ่งเป็นมติเดิมที่ยกเลิกไปแล้ว โรงเรียนจึงคัดเด็กระดับ ม.ต้น เท่าจำนวนเงินที่ได้รับ ตามหนังสือนำแจ้งของกระทรวงฯ และจ่ายครบทุกคนแล้ว
แต่เมื่อไปตรวจสอบหนังสือนำแจ้ง พบเป็นเอกสารปลอม นำเลขหนังสือเรื่องอื่นมาใส่แทน วันออกหนังสือนำแจ้งเกิดขึ้นก่อนวันโอนเงิน ซึ่งผิดปกติ คาดปลอมแปลงเพื่อหมุนเงินมากลบหลังทุจริต ซึ่งพบหนังสือปลอมแปลงเกินครึ่งของเอกสารทั้งหมด จากเอกสารที่ตรวจสอบ คาดว่าอาจมีการทุจริตก่อนปี 2548 ซึ่งจะเรียก 4 โรงเรียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมในวันจันทร์หน้า
สำหรับอีก 3 โรงเรียนที่ได้รับเงิน ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย และโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ แต่ได้รับเพียงครั้งเดียว 10,000-15,000 บาท ขณะเดียวกัน พบการโอนเงินเข้าบัญชีวัดน้อยนพคุณ ผ่านธนาคารกรุงไทย เจ้าอาวาสวัดเปิดเผยทางโทรศัพท์กับสำนักข่าวไทยว่า ไม่ใช่บัญชีของวัด เพราะเพิ่งเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย เมื่อกลางปี 2560 จึงจะประสานธนาคารเพื่อตรวจสอบ ยืนยันไม่เคยได้รับเงินใดๆ
ช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริต คือ การมอบอำนาจให้นางรจนา สินที อดีตเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ดำเนินการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พบว่ามีข้าราชการระดับสูงนับสิบรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเตรียมชี้มูลความผิดทางวินัย ภายในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้. – สำนักข่าวไทย