กทม. 5 เม.ย. – เมื่อใกล้จะมีการเลือกตั้ง มักจะมีกระแสเรื่องของนายกรัฐมนตรีคนนอกตามมา นักวิชาการมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
นักวิชาการเตือน คสช.เป็นผู้คุมกฎกติกาการเลือกตั้ง อย่าถลำลึกลงมาเล่นการเมืองเอง จะเสี่ยงต่อความขัดแย้ง และถ้ามาช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอกใช้เสียง ส.ว.หนุนเป็นหลักจะอยู่ได้ไม่นาน
หลังจาก คสช.ผ่อนปรนให้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และให้สมาชิกพรรคการเมืองเก่ายืนยันตัวตนได้ เริ่มเห็นเค้าลางของการเมืองไทยในอนาคตที่มีการเปิดตัวหัวแถว หรือคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต ซึ่งตามรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ปิดกั้นคนนอก จึงเป็นที่มาของการเสวนา “นายกรัฐมนตรีคนนอก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และแนวโน้มการเมืองไทย” ซึ่งนักวิชาการต่างแสดงความห่วงใยหากไปถึงขั้นตอนนายกรัฐมนตรีคนนอก มองว่าในอดีตอาจจะคุ้นชิน เพราะเคยมีนายกรัฐมนตรีคนนอกเกินกว่าครึ่งของการมีนายกรัฐมนตรีมา แต่วันนี้คนเจเนอเรชั่นใหม่ หลังปี 2535 คุ้นชินกับการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ปิดกั้นคนนอก
โดยพรรคการเมืองสามารถเสนอบัญชีรายชื่อคนที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 3 คน และในกรณีที่เลือกไม่ได้ในรอบแรก แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 วรรค 2 ยังเปิดให้เสนอคนนอกบัญชีมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียงก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีความเป็นห่วงว่าจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะต้องใช้เสียง ส.ส. ผ่านงบประมาณและคานการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมเตือน คสช.ในฐานะผู้คุมกติกา และบอกว่าจะปฏิรูปประเทศ ไม่ควรลงมาเป็นผู้เล่น จะไม่เป็นผลดีกับ คสช. ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร
นักวิชาการยังมองว่านายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชี โอกาสถูกคัดค้านจากสังคมมาก ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีต้องการจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมาในรอบแรก และต้องดูว่าพรรคการเมืองไหนจะกล้าเสนอชื่อ และ พล.อ.ประยุทธ์ จะเซ็นยินยอมประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ เมื่อประเมินแล้วยังเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา สามารถรวมกับพรรคใหญ่พรรคไหนก็จะได้ ส.ส. เกิน 250 คน และเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องติดตาม และต้องดูว่าพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจะมีศักยภาพแค่ไหน ทั้งหมดจะชัดเจนได้ในเดือนพฤษภาคม หลังการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเสร็จในเดือนเมษายนนี้. – สำนักข่าวไทย