กรุงเทพฯ
17 มี.ค.- ตลาดเงินตลาดทุนตามติดการประชุมเฟด สัปดาห์นี้ ด้านกสิกรไทย ประเมิน เงินบาทจะแข็งค่าอีก
หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าสุดในรอบ 4 ปี
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
จำกัด รายงานว่า สัปด์หที่ผ่านมา ( 12-16 มี.ค.) ค่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า
4 ปีครั้งใหม่ที่ 31.086 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ
อย่างต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศ
และนโยบายการต่างประเทศ หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ สั่งปลด รมว.
ต่างประเทศออกจากตำแหน่ง หลังมีความขัดแย้งเรื่องการทำงานในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้
ข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่คาด ก็เป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ
ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงในช่วงปลายสัปดาห์
หลังมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมเฟดในวันที่ 20-21 มี.ค. นี้ โดยในวันศุกร์ (16 มี.ค.) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 31.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 มี.ค.)
ด้าน ดัชนีตลาดหุ้นไทย(
SET) ปิดที่ระดับ 1,811.75 จุด เพิ่มขึ้น 2.05% จากสัปดาห์ก่อน
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 3.88% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 70,301.73 ล้านบาท
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 497.19 จุด โดยช่วงต้นสัปดาห์
ได้รับแรงหนุนหลักจากหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก อย่างไรก็ดี
กรอบการปรับขึ้นของดัชนี SET เป็นไปอย่างจำกัดในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งภายในและต่างประเทศ
และการกลับมาปรับตัวลงของราคาน้ำมันตลาดโลก แม้ว่าจะมีปัจจัยมาช่วยประคองตลาดจากความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ประกอบการโทรคมนาคม
และแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับสัปดาห์ถัดไป
(19-23 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด
มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,805 และ 1,790 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,825 และ 1,840 จุด
ตามลำดับ
โดยอาจต้องจับตาผลการประชุมนโยบายการเงิน
ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ และ การประชุม ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด ) วันที่ 20-21 มี.ค. ขณะที่
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง
และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรการและนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ตลอดจนข้อมูล PMI สำหรับเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ
และยูโรโซน ด้วยเช่นกัน–สำนักข่าวไทย