กทม. 6 มี.ค.-เปิดใจ “แบม-เกมส์” เยาวชนฮีโร่เปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น นำไปสู่การตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ
ความถูกต้องและไม่ต้องการให้คนจนถูกเอาเปรียบ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ น้องแบม นางสาวปณิดา ยศปัญญา นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม และน้องเกมส์ นางสาวณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ตัดสินใจหอบหลักฐานการทุจริตเงินคนจนเข้าร้องเรียน คสช. เรื่องราวในวันนั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับน้องทั้งสองบ้าง ติดตามจากรายงาน
ทำไมต้องถูกลงโทษ ทั้งที่ทำเรื่องถูก คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจของแบม นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น แม้ผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือน แต่เหตุการณ์ในวันนั้นยังคงชัดในความทรงจำ แบมเล่าว่า นับแต่พบพฤติกรรมการโกงของเจ้าหน้าที่ศูนย์ ที่สั่งให้เธอและเพื่อนอีก 3 คน ที่ฝึกงานขณะนั้น รวมถึงเกมส์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ ปลอมเอกสาร ลายเซ็นต์รับเงิน ของชาวบ้านกว่า 2,000 ชุด จึงตัดสินใจ แจ้งอาจารย์ แต่กลับถูกต่อว่า หาว่าโกหก ซ้ำร้ายนอกจากไม่ปกป้อง ยังสั่งกราบเจ้าหน้าที่ เพื่อขอโทษ เพราะตั้งมั่นในความถูกต้อง จึงหอบหลักฐานร้องเรียนต่อ เลขาธิการ คสช. จนนำมาสู่การตรวจสอบ สร้างความไม่พอใจให้หัวหน้าภาควิชาฯ เป็นอย่างมาก จนทุบที่หลังเธอถึง 2 ครั้งเพื่อระบายอารมณ์โกรธ
ถึงจะต้องเจอกับอุปสรรค แบม ถูกอาจารย์จับจ้อง เพื่อนไม่กล้าคุยด้วย เกมส์ ตกงาน ไม่มีรายได้ แต่ความพยายามต่อสู้กับความอยุติธรรมของทั้ง 2 ไม่สูญเปล่า เพราะหลัง ป.ป.ท.ตรวจสอบพบการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ ที่ จ.ขอนแก่น จนเป็นข่าวโด่งดัง สร้างแรงสั่นสะเทือนไปหลายจังหวัด เพียง 3 สัปดาห์ ตรวจสอบพบส่อแววทุจริตแล้ว 24 จังหวัด เกมส์ ที่ออกมาแฉกลโกง บอกสาเหตุนอกจากเกิดจากความโลภแล้ว ยังมาจากปัญหาการตรวจสอบที่หละหลวม เพราะทำงานมาปีกว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาตรวจสอบเลย
แบมและเกมส์ คือตัวอย่างเยาวชนที่ยึดถือความถูกต้อง และความซื่อสัตย์ในการดำเนินชีวิต แม้จะเสียโอกาสทั้งเวลาเรียน เวลาหางานใหม่ เพราะต้องมาเป็นพยาน แต่ทั้ง 2 ไม่ท้อ หากแลกกับการที่คนจนอีกหลายพันคนที่ถูกหน่วยงานในคราบนักบุญ เอาเปรียบ ก็ถือได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าแล้ว.-สำนักข่าวไทย