กรุงเทพ 17ก.พ.-อดีตประธานป.ป.ช. ชี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหาคอรัปชั่น ด้านผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจม.หอการค้าไทย เผยดัชนีชี้วัดความทานทนต่อการทุจริตคอรัปชั่นไทยลดลง และคนมีจิตสำนึกต้านคอรัปชั่นมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐมุ่งมั่นวางกฎหมายแก้ปัญหา ชี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีความพร้อมแก้ปัญหาคอรัปชั่นทุกมิติ
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อดีตประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า การทุจริตคือปัญหาสำคัญของประเทศ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข โดยรัฐธรรมปี 2560 ได้ออกกฎหมาย หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ต่อต้านการทุจริต พ.ร.บ.ต่อต้านทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้การจัดซื้อ จัดจ้างมีความโปร่งใสมากขึ้นและการทุจริตลดลงจำนวนมาก ทั้งนี้การแก้ปัญหาตัองสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ ภาครัฐและเอกชน รัฐจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนและมีกลไกในการดูแลป้องกันการต่อต้านการทุจริต พร้อมกันนี้ มีการทำแผนปฏิรูปทั้งด้านการปราบปรามการทุจริต การบริหารจัดการ เน้นให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญการแก้ปัญหาต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งประเทศ
นายปานเทพ ยอมรับว่า ภาพรวมการทุจริตของไทยมีดัชนีชี้วัดความโปร่งใสในปี 2559 ยังไม่ดี อยู่ที่ลำดับ 101ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข การดำเนินการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุน เต็มที่ ส่วนภาพรวมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นใน2560 ขณะนี้ผลคะแนนยังไม่ออกมา ซึ่งเป็นการท้าทายและผลคะแนนจะออกมาอย่างไรก็จะมุ่งมั่นแก้ปัญหาทุจริตต่อไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการจัดทำตัวเลขเกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์ทุจริตคอรัปชั่น ว่าต้องยอมรับว่าตัวสถิติเป็นตัวชี้สถานการณ์ทุจริตที่ชัดเจน ซึ่งดำเนินการมาทั้งหมด 7 ปี โดยใช้วิธีที่ต่างชาติทำตรงตามหลักสากล มาตรฐานคือคะแนน 0-100 ซึ่งในปี2553 ดัชนีอยู่ที่ 35 หมายความว่าไทยอยู่ในเกณฑ์ทุจริตคอรัปชั่นที่รุนแรง หรือเรียกง่ายๆว่าสอบตกจาก 50 คะแนน ล่าสุดคะแนนขึ้นมาที่ 52 คะแนน หมายความว่าสถานการณ์คอรัปชั่นของเรานั้นดีขึ้น ในรอบ 7 ปี และถือว่ามีปัญหาปานกลาง แนวทางในการดูแลปัญหาคอรัปชั่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งภาคสังคมและประชาชนนั้นมีการตระหนักถึงปัญหาการคอรัปชั่นมากขึ้น โดยมาตรการวัดเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งดูได้จาก 4 องค์ประกอบ ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอรัปชั่น ,ดัชนีการป้องกันการคอรัปชั่น,ดัชนีการปราบปรามการคอรัปชั่น,ดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก ผลคือดัชนีทุกรายการมีดัชนีที่เกินกว่าระดับ 50 ทุกดัชนี นั่นหมายความว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา และในรอบ 3 ปีที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาแก้ปัญหาด้วยการวางรากฐานและวางกฎระเบียบกฎหมายป้องกันคอรัปชั่นตลอดจนการสร้างเครือข่ายร่วมกันต่านปัญหาคอรัปชั่นได้ดีขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันเรื่องการปราบปรามปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นนั้น ดัชนีเกินกว่าระดับ 50 เป็นเรื่องของปัญหาที่มีการแก้ไขคอรัปชั่นที่ดีและคนไทยมีจิตสำนึกที่ดีขึ้นในการมองเป็นเรื่องใกล้ตัว ตระหนักถึงปัญหาโดยจะเห็นได้จากดัชนีความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอรัปชั่น พบประเทศไทยมีคะแนนอยู่ที่ดีที่สุด คือ 2 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งเดิมมีคะแนนอยู่ที่ 3 ซึ่งทุกประเทศต้องการผลักให้คะแนนอยู่ที่ใกล้ศูนย์เพราะตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี คือต้องการให้คนไทยไม่ทนทานต่อการคอรัปชั่นแต่การสำรวจที่พบปัญหาคือคนมีความกังวลว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะกลับมา เพราะดัชนีอยู่ต่ำกว่า 50 ปัจจุบันอยู่ที่ 42 เพราะคนกังวลเรื่องนี้มาก แม้ว่าประสบการณ์อัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะจะลดลงจากเดิมปี 2553-2556 จ่ายร้อยละ20-25 ปัจจุบัน เหลือเพียงร้อยละ 5-15 ซึ่งถือว่าน้อยลงทั้งอัตราและจำนวนคน อย่างไรก็ตามประชาชนยังต้องการให้ภาครัฐมุ่งมั่นจริงจังในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น และมุ่งส่งเสริมข้อตกลงคุณธรรม มาใช้เป็นกลไกดูแลในการจัดซื้อจัดขาย ตลอดจนการประมูลต่างๆเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้มีกระบวนการดูแลควบคุมกฎหมาย
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมการทุจริตคอรัปชั่นว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก ในการดูแลและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของคนไทยทั้งประเทศ เพราะคนไทยมีความพร้อมและไม่สามารถทานทนต่อปัญหานี้ได้ รวมทั้งมีกฎระเบียบและการวางเครือข่ายที่ดี จึงน่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไปพร้อมๆกันทุกภาคส่วนและน่าจะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยถอยลงไปในที่สุด
“ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เพราะต้องยอมรับว่าในอดีตมีปัญหาคอรัปชั่นสูง แต่จากการสอบถามทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชนพบว่า การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น มีกฎระเบียบที่ป้องกันการคอรัปชั่นมากขึ้น การปราบปรามดีขึ้นและแน่นอนว่าทุกเครือข่ายให้ความร่วมมือ ถือเป็นกรอบที่ดี จากประสบการณ์ของฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่มีเรื่องคอรัปชั่นหนักกว่าไทยบอกว่าการแก้ปัญหาที่สำคัญคือ ประชาชนต้องพร้อมและมองว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยมาถึงจุดนี้แล้ว ที่คนและกฎหมายก็พร้อมแล้วที่เหลือคือต้องร่วมกันรณรงค์อย่างจริงจัง”นายธนวรรธน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย