จีน 13 ก.พ.- มาตรการห้ามจุดประทัดในกรุงปักกิ่งและ 444 หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีนทำเอาธุรกิจค้าประทัดในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ถึงกับซบเซา การค้าประทัดลดลงกว่า 30%
มาตรการดังกล่าวซึ่งมีเป้าหมายในการลดปัญหามลพิษและฝุ่นควันซึ่งประกาศใช้เมื่อปีที่แล้วได้ยืดขยายออกมาถึงปีนี้ จากการไปสำรวจตลาดค้าส่งประทัดใหญ่ในเมืองหลิวหยาง ในมณฑลหูหนาน ปรากฏว่าธุรกิจค้าประทัดตกอยู่ในสภาพเงียบเหงา
เฉิน เจียรง ผู้ผลิตและค้าประทัดและดอกไม้ไฟมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันอายุ 48 ปีแล้ว และคนงานในการผลิตประทัดถึง 120 คน กล่าวว่า เหลือเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ยังเปิดอยู่ เพราะลูกค้าลดลงมากถึง 30% เมืองหลิวหยางนี้จะว่าเป็นเหมืองหลวงของประทัดและดอกไม้ไฟก็ว่าได้ เพราะนับแต่มีการผลิตประทัดขึ้นเมื่อ 1,400 ปีก่อน สมัยราชวงศ์ถัง ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น ผู้คนจะพากันจุดประทัดและดอกไม้ไฟตามท้องถนนในช่วง 15 วันแรกของเทศกาลตรุษจีนเพื่อให้เสียงของประทัดขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อความเป็นสิริมงคลในการย่างเข้าสู่ปีใหม่ของชาวจีน อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดจากประทัดและดอกไม้ไฟนั้น มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในจีน โดยเฉพาะมกราคมปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 5 คนจากพลุในโกดังดอกไม้ไฟระเบิด และในปี 2557 ก็มีเหตุระเบิดที่โรงงานพลุดอกไม้ไฟตายไปอีก 12 คน บาดเจ็บ 33 คน ทั้ง 2 รายเกิดในมณฑลหูหนาน
คำสั่งห้ามจุดประทัดในกรุงปักกิ่งและ 444 เมืองใหญ่ทั่วประเทศยิ่งทำให้ธุรกิจประทัดที่ซบเซาอยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก การจุดประทัดนั้นเป็นที่นิยมในชนบทและเมืองเล็กๆ ชาวบ้านนิยมจุดประทัดในงานศพ งานแต่งและงานฉลองต่างๆ แต่ตามเมืองใหญ่ๆ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองเห็นการจุดประทัดเป็นเรื่องของคนหัวโบราณและมักห้ามเด็กๆ ไม่ให้เล่นประทัดและดอกไม้ไฟด้วยเกรงเกิดอันตรายและรบกวนชาวบ้าน
จีนนั้นเป็นประเทศที่ส่งออกพลุดอกไม้ไฟมากที่สุดในโลกมีมูลค่าถึง 681 ล้านดอลลาร์ ใน 11 เดือนของปีที่แล้ว และโรงงานผลิตพลุดอกไม้ไฟของชิว ซีเหว่ย ที่อยู่ในเมืองหลิวหยาง เป็นเจ้าของพลุและดอกไม้ไฟที่ส่งออกถึง 90% แม้หลายคนจะคิดว่าคำสั่งห้ามจุดประทัดจะทำให้ประเพณีการฉลองตรุษจีนด้วยการจุดประทัดจะสูญหายไป แต่ชาวกรุงปักกิ่งอย่างนาย จาง ชูจุน วัย 62 ปี บอกว่า ถ้าแลกกับอากาศที่สดชื่นกลับคืนมาแล้วก็ยอม.-สำนักข่าวไทย