ทำเนียบรัฐบาล 12 ก.พ.-ดอนเผยยังไม่ได้รับรายงานทางการเรื่องยิ่งลักษณ์-ทักษิณอยู่จีน ขอตรวจสอบก่อน ส่วนการติดตามตัวเป็นหน้าที่หน่วยงานอื่น กต.ดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบแล้วด้วยการแจ้งแต่ละประเทศว่ามีใครหนีคดีบ้าง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่ภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีขั้นตอนใด ๆที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากมีหน่วยงานอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการกับผู้ที่มีคดี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะยังไม่ได้รับรายงานเป็นทางการ เป็นเพียงการรายงานภายในเท่านั้น
“ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้บอกกล่าวกับทุกประเทศว่ามีใครที่มีคดีติดตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะดำเนินการต่อไป กระทรวงการต่างประเทศไม่มีเครื่องมือหรือบทบาทจะดำเนินการอะไรมากกว่าที่ทำมาแล้ว ส่วนเรื่องสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน กระทรวงการต่างประเทศรับลูกมาจากผู้บังคับใช้กฎหมาย เราทำหน้าที่เป็นแมสเซนเจอร์เท่านั้น ในอดีตก็ทำแบบนี้ ส่วนแหล่งที่อยู่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ชัดเจนอยู่ที่ใด ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ขอไปดูรายงานข่าวให้ชัดเจนก่อน ไม่ใช่ว่ามีข่าวอะไรมา เราต้องมีปฏิกริยากับทุกข่าว ต้องรอความชัดเจนก่อนรายงานผู้บังคับบัญชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ถือพาสปอร์ตเล่มอื่นหรือไม่ นายดอน กล่าว่า ทราบจากข่าวแต่ยังไม่เคยเห็นตัวพาสปอร์ตจริง ส่วนจะได้มาโดยวิธีใด แต่เข้าใจได้ว่าในหลายประเทศ หากใครเข้าไปลงทุนหรือติดต่อด้านเศรษฐกิจ เขาก็มักจะให้การรับรองหนังสือเดินทาง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา(12 ก.พ.) มีโอกาสพบกับนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้พูดคุยกรณีที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยอยู่ในสหราชอาณาจักร คุยแต่เรื่องบ้านเมืองทั่วไปและได้ชี้แจงเรื่องการเลือกตั้งที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และพ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งสหราชอาณาจักรทราบและเข้าใจดี นอกจากนี้ได้หารือเรื่องการลงทุนเมกกะโปรเจคที่อังกฤษมีความสนใจจะมาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นการพูดคุยเพื่อผูกสัมพันธ์กับไทยสำหรับอนาคตที่สหราชอาณาจักรต้องออกจากสหภาพยุโรป(อียู) ส่วนที่อิตาลีก็เข้าใจความจำเป็นที่ไทยต้องเลื่อนการเลือกตั้งและไม่ติดใจเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย