นคราชสีมา 30 ม.ค.- มข.หารือโคราชเตรียมบำเพ็ญกุศลถวายเพลิงสรีระสังขาร “หลวงพ่อคูณ” หลังนำร่างเป็นอาจารย์ใหญ่แก่นักศึกษาแพทย์กว่า 880 คน ระบุการดำเนินงานทำตามพินัยกรรม เผยมหาวิทยาลัยเตรียมสร้างเมรุชั่วคราวและอนุสรณ์สถานที่ขอนแก่น
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมาและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา บ่ายวันนี้ (30 ม.ค.) ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีวาระสำคัญการจัดพิธีถวายเพลิงสรีระสังขาร พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ซึ่งคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานขั้นตอนต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีคณะศิษย์ใกล้ชิด อาทิ “ไก่โต้ง” นายสมบูรณ์ โสตถิอนันต์ อดีตเลขานุการหลวงพ่อคูณ และกรรมการวัดบ้านไร่ร่วมรับฟังด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณที่ได้มอบสรีระให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาควิชาดังกล่าว ซึ่งไปเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษา โดยพินัยกรรมระบุว่าเมื่อสิ้นสุดแล้วให้จัดพิธีเรียบง่าย ละเว้นพิธีสมโภชใดๆ ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ หรือพระราชพิธีอื่น ๆ เป็นกรณีพิเศษหรือเป็นการเฉพาะ บัดนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับจังหวัดขอนแก่นและได้เชิญตัวแทนของจังหวัดนครราชสีมาที่ระบุไว้ในพินัยกรรม อาทิ นายอำเภอด่านขุนทด , ศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด ร่วมปรึกษาหารือการดำเนินการจัดการศพให้เป็นไปตามพินัยกรรมและได้ข้อสรุปเบื้องต้นกันแล้ว จึงมาหารือกับหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปีนี้ 2561 จะเป็นปีสุดท้ายสำหรับการเป็นอาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อคูณ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเสร็จสิ้นพิธีบำเพ็ญกุศลหลวงพ่อคูณละสังขารเป็นเวลา 7 วันแล้ว ที่หอประชุมกาญจนาภิเษก จังหวัดขอนแก่น ร่างของหลวงพ่อคูณได้อัญเชิญไปที่คณะแพทยศาสตร์ได้ผ่านกระบวนการดองร่างอาจารย์ใหญ่ และหลังครบ 1 ปีได้นำร่างขึ้นมาเป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ของการเป็นครูใหญ่ของหลวงพ่อคูณ ฉะนั้น เพื่อความเหมาะสมทางภาควิชาและคณะแพทยศาสตร์ก็ไม่ได้ให้ร่างท่านให้กับนักศึกษาแพทย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งปกตินักศึกษาแพทย์จะใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง กับนักศึกษาแพทย์ 6 คน แต่หลวงพ่อคูณทางคณะได้มอบหมายให้อาจารย์ที่มีขีดความสามารถดีที่สุดในการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ คือ รศ.ดร. กิตติศักดิ์ ศรีพานิชกุลชัย และคณะทีมงาน โดยผ่าร่างในการสาธิตให้กับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทุกคณะในศูนย์วิทยาศาสตร์ได้ดูมาแล้ว ก่อนนำไปผ่าร่างครูใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น หลวงพ่อคูณจึงไม่ได้เป็นอาจารย์ใหญ่เฉพาะแค่นักศึกษาแพทย์แค่ 6 คนเท่านั้น แต่จะเป็นอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ทั้งชั้นปี ประมาณ 280 คน รวมทั้งอีก 600 คน ของนักศึกษาในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย ตรงนี้เรียนในเบื้องต้นเพื่อให้ทุกท่านได้อนุโมทนากับกุสลจิตของหลวงพ่อคูณที่ท่านได้เสียสละร่าง
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า กระบวนการศึกษาจะเสร็จสิ้นในปี 2561 คือ ประมาณเดือนมิถุนายน เป็นการศึกษาประมาณ 1 ปีครึ่งของวิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งมีความต่อเนื่อง ฉะนั้นจะมีการเตรียมการเพื่อดำเนินการสำหรับการบำเพ็ญกุศลก่อนที่จะขอพระราชทานเพลิง ตนใช้คำว่าพระราชทานเพลิงต่อไปก็เนื่องจากว่า ในพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณได้ระบุว่าขอให้จัดการร่างของท่านพร้อมครูใหญ่ท่านอื่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขอพระราชทานเพลิงครูใหญ่เป็นกรณีพิเศษเป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้ว ฉะนั้น การบำเพ็ญกุศลของหลวงพ่อคูณก่อนที่จะฌาปนกิจจริงก็จะเป็นการพระราชทานเพลิงศพร่วมกับครูใหญ่ท่านอื่น ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่าจะจัดพิธีบำเพ็ญกุศลพร้อมกับครูใหญ่ท่านอื่น ๆ ประมาณ 400-500 ร่างที่ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก จากนั้นจะนำร่างครูใหญ่ไปประกอบพิธีประชุมเพลิง หรือฌาปนกิจตามวัดต่าง ๆ กว่า 20 วัดในจังหวัดขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า สำหรับร่างหลวงพ่อคูณตามพินัยกรรมที่ระบุว่าให้นำไปฌาปนกิจ ณ ฌาปนสถานของวัดหนองแวง พระอารามหลวง หรือวัดอื่นใดที่คณะแพทยศาสตร์เห็นสมควรนั้น คณะแพทย์ศาสตร์ได้ไปเรียนปรึกษาเจ้าอาวาสวัดหนองแวง พระอารามหลวง มีความเห็นตรงกันว่า ฌาปนสถานของวัดคงไม่สามารถรองรับศิษยานุศิษย์ได้จำนวนหลายแสนคน จึงมีดำริจะทำเมรุชั่วคราวของวัดหนองแวง บริเวณพุทธมณฑลอีสาน จึงเป็นที่มาของการเตรียมสถานที่ รวมถึงการปรับถนนเข้าไปหรือถมที่ เมื่อเสร็จสิ้นฌาปนกิจแล้วจะเก็บอัฐิและลอยอังคารหลวงพ่อคูณลงแม่น้ำโขง ส่วนสถานที่บริเวณนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน โดยจะไม่เรียกว่าเจดีย์ เพราะบริเวณนั้นจะมีอัฐิธาตุ เนื่องจากในพินัยกรรมหลวงพ่อคูณต้องการให้นำทุกอย่างไปลอยอังคารแม่น้ำโขง ฉะนั้น ต้องใช้คำว่าอนุสรณ์สถานแทน ส่วนงานด้านอื่น ๆ แต่ละคณะจะมีรายอย่างละเอียดต่อไป เช่น วิศวกรรม.-สำนักข่าวไทย