สุพรรณบุรี 29 ม.ค.-เด็กหัวจุกเดี๋ยวนี้จะพบเห็นได้น้อยมาก แต่ที่จ.สุพรรณบุรี ยังมีให้เห็น และพอถึงเวลาต้องโกนจุก พ่อแม่ก็จัดพิธีให้อย่างอลังการ โดยให้นั่งเครื่องบินแห่ไปตามท้องถนน ก่อนจะเข้าโบสถ์ประกอบพิธีบวชเณร เล่นเอาคนที่พบเห็นอดอมยิ้มไปตามๆ กันไม่ได้
ที่ ต.สวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี นายสายชล และนางภัสวริน อ่วมเสือ จัดพิธีโกนจุกและบวชเป็นสามเณร ให้กับ ด.ช.ชลนภัส หรือน้องดอส ลูกชาย คนที่ 2 อายุ 9 ขวบ ตามแบบประเพณีโบราณแต่อลังการ โดยน้องดอสมาในชุดนักบิน ทำพิธีขอขมาลาบวช ก่อนขึ้นเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งนายสายชน พ่อน้องดอสทำขึ้นจากไม้อัดมาตกแต่งสีสันอย่างสวยงาม สมจริง เอามาแห่น้องดอสจากบ้านแห่ไปตามท้องถนนอย่างสนุกสนาน เนื่องจากน้องดอสฝันอยากเป็นนักบิน
เรียกว่าตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่าน สามารถสร้างความสนใจและเรียกร้อยยิ้มให้กับผู้ที่พบเห็น เนื่องจากบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทั้งคนนั่งและคนแห่ หลังจากแห่รอบถนนแล้ว ยังแห่รอบโบสถ์ เพื่อประกอบพิธีบรรพชาเป็นสามเณร
ประเพณีโกนจุกโกนเปีย
สมัยโบราณจะเห็นเด็กไว้จุกไว้เปีย โดยเด็กหญิงจะไว้จุก เด็กชายจะไว้เปีย ด้วยความเชื่อว่า เด็กที่เลี้ยงยาก ดื้อ หรือเด็กที่มักเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย ถ้าให้ไว้จุกหรือเปียแล้วก็จะหายจากเจ็บไข้ และมีสุขภาพดี เมื่ออายุ 7 ขวบ หรือ 9 ขวบ หรือ 11 ขวบ ก็จะทำการโกนจุกหรือเปียทิ้ง ถ้าไม่โกนจะไม่เป็นผลดีกับเด็ก ถ้าโกนแล้วเด็กจะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นประเพณีโบราณ ที่ยังทำกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่พิธีกรรมต่างๆ ยังเหมือนเดิม มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างคือ ค่าใช้จ่ายการจัดงานค่อนข้างสูง และอาหารการกินแต่เดิมชาวบ้านจะช่วยกันทำเอง แต่ปัจจุบันมักจัดเลี้ยงเป็นแบบโต๊ะจีนเพื่อความสะดวก การถือหอก ดาบ ร่วมในขบวนแห่ ปัจจุบันมีการยิงปืนและจุดประทัดเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม โดยผู้ปกครองจะต้องเตรียมจัดงาน หาพระดูฤกษ์ และวันจัดงาน เมื่อได้วันมาแล้วก็เตรียมหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จะต้องทำเลี้ยงแขกและใช้ทำบุญ
พิธีกรรมวันแรก เวลาตอนเย็น นำเด็กที่จะโกนจุกหรือเปียไปแต่งตัวให้สวยงาม แต่งหน้าทาปากใส่เครื่องประดับงดงามที่บ้านญาติ ซึ่งอยู่ห่างออกไป แล้วจัดขบวนแห่มีกลองยาว หรือดนตรีอื่นแห่มา โดยเด็กที่แต่งตัวเรียบร้อยแล้วนั่งม้า แห่มาจนถึงบ้านของตนเอง เมื่อถึงแล้วเข้ามาฟังพระสวดมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อพระสวดมนต์จบ หมอทำขวัญก็จะทำพิธีสู่ขวัญเด็ก เมื่อเสร็จพิธีนำเด็กเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดธรรมดา คืนนี้อาจมีมหรสพสมโภช และกินเลี้ยงฉลองกัน
วันที่สอง อาบน้ำแต่งตัวเด็กด้วยเสื้อผ้าใหม่ๆ แล้วพามานั่งฟังพระสวดมนต์ หลังจากนั้นเด็กและชาวบ้านที่มางานร่วมทำบุญใส่บาตร นำอาหารถวายพระ เมื่อพระฉันเสร็จให้พรเสร็จแล้ว จะตัดจุกให้ จากนั้น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้อง ก็จะช่วยกันโกนจุกหรือเปียออก เอาด้ายมงคลสวมคอ ผูกข้อมืออวยพรรับขวัญ.-สำนักข่าวไทย