สุพรรณบุรี 14 ก.ย. – “วราวุธ” บุก ปตร.โพธิ์พระยา ดอนตาล บางปลาม้า ตรวจระดับน้ำเข้า-ออกสุพรรณบุรี พร้อมรับน้ำเหนือ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี เขต 2 นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา สำนักชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ
โดยภาพรวมของจังหวัดสุพรรณบุรี ทุ่งโพธิ์พระยา และสถานการณ์น้ำในพื้นที่บางปลาม้า คันคลองต่างๆ โดยมีนายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 และนายวิชัย ผันประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 นายโอฬาร ทองศร ผอ.โครงการชลประทานสุพรรณบุรี (ผคป.สุพรรณบุรี) นายธรรมนูญ บำรุงเพ็ชร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา (ผคบ.โพธิ์พระยา) เป็นผู้รายงาน
อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ พร้อมคณะ ได้ไปตรวจดูระดับน้ำที่คันกั้นน้ำ ได้แก่ คันคลองระบายใหญ่ คลองสุพรรณฯ 3 ฝั่งขวา ต.ดอนตาล อ.เมืองสุพรรณบุรี, ประตูระบายน้ำดอนตาล และสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำบางปลาม้า
นายวราวุธ กล่าวว่า ตนพร้อม สส.สุพรรณบุรี มาตรวจดูสถานการณ์น้ำและคันคลองต่างๆ ในจังหวัด เพื่อที่จะมาดูว่าการเตรียมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำทุกปี ดังนั้น ถ้าใครบอกว่าสุพรรณบุรีน้ำไม่ท่วม ถาม สส.สุพรรณบุรี ได้ว่าท่วมทุกปี และท่วมนานเป็นแรมเดือน ที่เราต้องมาดูสถานการณ์น้ำเพื่อป้องกันที่จะทำให้สถานการณ์น้ำที่ท่วมทุกปีนั้นท่วมน้อยลง ไม่ใช่ไม่ท่วม ท่วมนะ แต่ท่วมน้อยลง และระยะเวลาที่ท่วมก็สั้นลง เพราะท้ายที่สุดน้ำที่อยู่ทางตอนเหนือที่มีมหาศาลจะค่อยทยอยลงมาในตอนล่าง สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม เป็นพื้นที่รับน้ำจากตอนเหนือตลอดอยู่แล้ว ดังนั้น การดูแลประชาชนที่อยู่ตอนล่างเพื่อให้ได้รับการดูแลจากน้ำท่วมให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งต้องขอบคุณ สส. สจ. ที่ได้นำข้อมูลมาแจ้งกับฝ่ายบริหาร เพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายวราวุธ กล่าวว่า ในปีนี้พวกเราชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องขอบคุณกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการบริหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่ได้เปิดแบบพรวดพราด เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง จะเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล
ในปีนี้มีการหน่วงน้ำ ชะลอน้ำให้มากขึ้น บริหารจัดการแบบค่อยๆ ระบายลงมาในตอนล่าง แล้วลงอ่าวไทยในท้ายที่สุด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงสุด และหากมีพายุจากร่องมรสุมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาเสริมจะยิ่งเป็นภาระให้กับฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเป็นไปได้ยาก เมื่อกรมชลประทานระบายน้ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้น้ำตอนเหนือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อหน่วงชะลอน้ำก็จะไม่มีการท่วมเหมือนปีก่อนๆ ที่ท่วมขังนาน ซึ่งจะได้เร่งให้มีการระบายออกโดยเร็วที่สุด.-317-สำนักข่าวไทย