กระทรวงแรงงาน 17 ม.ค.-สื่อมวลชนจำนวนมาก ติดตามรายงานข่าวการประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกำหนดการประชุมเวลา 4 โมงเย็นวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บริเวณหน้าห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ว่า เวลา 14.00 น.เจ้าหน้าที่ได้มาเปิดห้องประชุมเพื่อรองรับคณะกรรมการค่าจ้างจากไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมเพื่อพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 ในช่วงเวลา 16.00 น.โดยมีสื่อมวลชนจากหลายสำนักทยอยเดินทางมาปักหลักเพื่อทำข่าวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพิจารณาค่าจ้างวันนี้ นับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังครั้งแรกที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นไม่ตรงกัน เรื่องของตัวเลขและการจัดกลุ่มจังหวัด จึงต้องทำข้อมูลใหม่ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมนัดตัดเชือกตามคำยืนยันของ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานบอร์ดค่าจ้างที่ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้า ว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาด การปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัด จะต้องได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมอาจใช้เวลาไม่นานมากนัก คาดว่าไม่เกิน 4 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีประเด็นยืดเยื้อ เป็นการพิจารณาในส่วนของการจัดกลุ่มจังหวัดปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ จากเดิมก่อนหน้าที่ในที่ประชุมเสนอมา 20 กลุ่ม 20ตัวเลข ซึ่งมีจำนวนมากเกินไป และยังพบกว่า 36 จังหวัดไม่ขอขึ้นค่าจ้าง ทั้งที่เมื่อนำเข้าสูตรกลับพบว่าต้องขึ้นทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดระนอง ดังนั้น วันนี้บอร์ดค่าจ้าง จึงจะต้องนำกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าจะแบ่ง 77 จังหวัดเป็นกี่กลุ่มและแต่ละกลุ่มจะขึ้นกี่บาท โดยจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจ การประกอบกิจการ ค่าครองชีพ รายได้ ไม่ต่างกันจะต้องจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้างเปิดเผยว่า ปีนี้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด และมีแนวโน้มแบ่งได้ประมาณ 4-5 กลุ่ม ปรับขึ้นตั้งแต่ 4-12 บาท สูงสุด 12 บาท คือจังหวัด พังงา และภูเก็ต จากเดิมที่เมื่อปีที่แล้ว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่ม 69 จังหวัดปรับขึ้นในอัตรา 5-10 บาท และไม่ปรับขึ้น 1 กลุ่ม จำนวน 8 จังหวัด .-สำนักข่าวไทย