กรุงเทพฯ 27 ธ.ค.-โฆษก กกพ.เผย เตรียมตรึงค่าไฟฟ้า งวด 2 ปี 61 เท่ากับงวดแรกที่ประกาศตรึงราคาไปแล้ว ส่วนงวดสุดท้ายรอดูราคาน้ำมัน-เงินบาท และการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ยืนยันแบ็คอัพเรตจะนำมาใช้แน่นอน แต่บ้านเรือนที่ติดโซลาร์รูฟท็อป ไม่ต้องจ่าย
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้า ในปี 2561 คาดว่าจะทรงตัวในช่วง 8 เดือนแรกของปี หรือ 2 งวดแรกของการพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที (มค.-ส.ค.61) หลังจากนั้น จะรอโครงสร้าง ค่าไฟฟ้าใหม่ที่กำลังปรับปรุง ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2561 และใช้ต่อเนื่องไปราว 3 ปี โดยโครงสร้างใหม่ต้องรอดูการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่ ครม.เห็นชอบทั้งส่วนโรงไฟฟ้าและสายส่ง การซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ซึ่งหากต่ำกว่าแผนที่วางไว้ก็จะมีผลให้ค่าไฟฐานลดลงได้เช่นกันแต่หากสูงกว่าเดิมก็ต้องปรับขึ้นจึงยังตอบไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อประกาศใช้ค่าไฟฐานใหม่ต้องนำค่าเอฟทีไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่าเอฟที เริ่มต้นเป็นศูนย์ โดย ในเดือนธันวาคม 2560 ค่าไฟฟ้าฐาน เท่ากับ3.7556 บาทต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าเอฟทีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5966 บาท/หน่วย ซึ่งหากดูย้อนไปตั้งแต่ คณะกรรมการ กกพ.ชุดนี้เข้ามาทำงาน เมื่อเดือน พ.ค.2557 ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยช่วงนั้นอยู่ที่ 3.96 บาท/หน่วย จึงเท่ากับการกำกับดูแลของ กกพ.ชุดนี้ ประกอบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ ลดลงก็ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลง 0.364 บาท/หน่วย
“ค่าไฟฟ้าเอฟที งวด 2 ปีหน้า หรือเดือน พ.ค.-ส.ค.น่าจะตรึงได้เท่ากับงวดแรก ส่วนงวดสุดท้ายของปี คงจะต้องรอดูเรื่องราคาน้ำมันย้อนหลังและค่าเงินบาทจะแข็งค่าอีกหรือไม่”นายวีระพล กล่าว
ทั้งนี้ในงวดแรก(ม.ค.-เม.ย.61 ) กกพ.ได้พิจารณาไปแล้วและประกาศตรึงค่าไฟไว้คงเดิมที่ Ft ติดลบ 15.90 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟ้ฟ้าเฉลี่ยเรียกเก็บรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวม VAT) โดยหากดูต้นทุนค่าเอฟทีที่แท้จริงจะ เพิ่มขึ้นถึง 20.25 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากมีเงินสะสม ตั้งแต่กลางปี 2560 อยู่จำนวน 1.256 หมื่นล้านบาท ได้นำเงินมาตรึงค่าไฟงวดแรกดังกล่าวไว้ 7,313 ล้านบาท และเหลืออีก 5,000ล้านบาทก็จะนำมาตรึงในงวดถัดไปได้
นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่จะนำเรื่อง ค่าไฟฟ้าสำรอง (backup rate)มาพิจารณาด้วยเพราะคาดว่าในอนาคต ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (ไอพีเอส)จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 2,678 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะ พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (SOLAR ROOFTOP )ที่ขณะนี้ต้นทุนต่ำลงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนนี้ จะไม่มีการจัดเก็บบ้านที่อยู่อาศัย หรือผู้ที่ติดเองใช้เองขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีการติดตั้ง 3-5 เมกะวัตต์ ขึ้นไป คงจะต้องพิจารณาจัดเก็บ แต่จะจัดเก็บใครมากน้อยเพียงใด กำลังศึกษารายละเอียด เพราะรูปแบบในขณะนี้มีทั้งเจ้าของโรงงานหรือเจ้าของอาคารติดตั้งเพื่อใช้เอง กับ มีผู้ให้บริการติดตั้ง แล้วคิดรายได้จากค่าไฟฟ้าที่ลดลง โดยการจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำรองก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่ เพราะเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าฐานในเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสายส่งไปแล้ว หากผู้ประกอบการที่เดิมมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบ แล้วไม่ใช้ กลับมาใช้ SOLAR ROOFTOP แล้วใช้ไฟฟ้าจากระบบเป็นส่วนสำรอง ดังนั้นเพื่อลดภาระไม่ให้คนส่วนใหญ่จ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็ต้องจ่ายค่าสำรองนี้ด้วย นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ก็จะมีเรื่องการใช้หรือการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าของบุคคลที่สาม (Wheeling Charge) และค่าไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) ที่ชัดเจนด้วย
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ทาง กกพ.จะทำการศึกษาเพื่อทบทวนรายละเอียดในบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าบริการรายเดือนที่ขณะนี้เก็บจากผู้ใช้ไฟ 2 ประเภทคือบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีการใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน จะคิดค่าบริการรายเดือน เท่ากับ8.19 บาท/เดือน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ ากว่าต้นทุนที่ เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้า เพื่อเป็นการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย 2. ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/ เดือน จะคิดค่าบริการ รายเดือน เท่ากับ 38.22 บาท/เดือน ซึ่งขณะนี้ทางการไฟฟ้าชี้แจงว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ สะท้อนข้อเท็จจริงและอนาคตจะมีการปรับการบริการไปสุ่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งหมดก็คงจะต้องมาดูว่าจะลดค่าบริการได้หรือไม่ อย่างไร-สำนักข่าวไทย