ดินแดง 20 ธ.ค.-คณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย ประกาศจุดยืนคัดค้านเเนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 พร้อมเสนอหลักการ 5 ด้าน ย้ำชัดค่าจ้างเเรงงานขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ
นายสาวิทย์ เเก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย (คสรท.)พร้อมด้วยตัวเเทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กว่า 50 คน รวมตัวกันบริเวณด้านหน้ากระทรวงเเรงงาน เพื่อประกาศจุดยืนคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะประกาศใช้ในปี 2561 ที่มีเเนวทางจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากันทั้งประเทศเเละจำนวนอัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเเต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาเงื่อนไขการปรับไม่สอดคล้องกับองค์การเเรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมของเเรงงาน จึงขอเสนอหลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 5 ด้านต่อรัฐบาล
ดังนี้ รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการขององค์การเเรงงานระหว่างประเทศเเละค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ,ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ,ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระเเละมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี , กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างเเละปรับค่าจ้างทุกปีเเละต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นายสาวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเเรงงานมีค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการดำรง ชีวิต จากการสำรวจค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมกับเเรงงานคนเดียวคือ 360 บาท เเต่ตามหลักการองค์การเเรงงานระหว่างประเทศคือคนทำงาน 1 คนต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้อีก 2 คน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องเป็นไปตามนั้นด้วย ประกอบกับผลสำรวจหนี้สิน พบว่าคนงานมีหนี้เฉลี่ยต่อวันเกือบ 226 บาท ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ส่วนตัวเลขมีคนเสนอค่าจ้าง 712 บาท ก่อนหน้านี้นั้น ทางคณะกรรมการสมานฉันท์ฯไม่ได้เสนอ เเต่เป็นค่าจ้างที่มีได้การสำรวจการค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทบวกกับอัตราเงินเฟ้อปีละ ร้อยละ 3 ซึ่งบ่ายวันนี้ (20 ธ.ค.) จะมีการเข้าหารือกับ พล.ต.อ.อดุลย์ เเสงสิงเเก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าจะขึ้นค่าจ้าง 2-15 บาทเเละไม่เท่ากันทั้งประเทศ ตนมองว่าถึงอย่างไรค่าจ้างต้องเท่ากัน เพราะคงลดปัญหาการอพยพของเเรงงานได้
ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับนักลงทุนมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน เเละอ้างว่าหากปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อเสนอของ คสรท.นักลงทุนจะหนีย้ายฐานการผลิต สินค้าจะแพงขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วค่าจ้างแรงงานต่อผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งแนวคิดนี้ขาดความเข้าใจ ไม่มองถึงคุณภาพชีวิตของคนงาน ไม่มองว่าการมีกำลังซื้อของคนงานจะก่อให้เกิดห่วงโซ่การผลิต เกิดการจ้างงานรัฐสามารถเก็บภาษีทั้งคนทำงานและผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีอย่างแท้จริง มิใช่จีดีพีเทียมแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมเป็นหลักการตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดว่าทุกคนที่ทำงานมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและยุติธรรมเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรัฐบาลควรปฏิบัติตาม เพราะเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมติ”ประกาศวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าจะเป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำและความจริงใจของรัฐบาล .-สำนักข่าวไทย