ก.แรงงาน 20 ธ.ค.-รมว.แรงงาน รับฟังข้อเรียกร้องจากคณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย พร้อมส่งต่อให้บอร์ดพิจารณา ด้านปลัดฯ เผยคาดจะสรุปผลค่าจ้างขั้นต่ำได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนข้อเสนอปรับค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ รับเป็นไปได้ยาก
พล.ต.อ.อดุลย์ เเสงสิงเเก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ร่วมพูดคุยเเละรับฟังข้อเสนอเเนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากนายสาวิทย์ เเก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย (คสรท.) เเละตัวเเทน จากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หลังจากช่วงเช้าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้เเถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์คัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะประกาศใช้ในปี 2561 ที่มีเเนวทางจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากันทั้งประเทศเเละจำนวนอัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเเต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาเงื่อนไขการปรับไม่สอดคล้องกับองค์การเเรงงานระหว่างประเทศ
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ได้รับฟังข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้เสนอมา ได้เเก่ ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการขององค์การเเรงงานระหว่างประเทศเเละค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ ,ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด , ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระเเละมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี,กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างเเละปรับค่าจ้างทุกปีเเละต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวนำไปประกอบการพิจารณาในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างรอบด้าน ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ดเร็วๆนี้ ตนพร้อมจะรับฟังสนับสนุนการเเก้ปัญหาจากทุกฝ่าย เพราะยุทธศาสตร์การทำงานคือต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เเละพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้พบผู้มีรายได้น้อยกว่า 14 ล้านคน เเรงงานในระบบ 12 ล้านคนเเละนอกระบบ 22 ล้านคน ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นต้องส่งผลดีกับทุกฝ่าย
ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวเเทนนายจ้าง 5 คน ลูกจ้าง 5 คนเเละภาคส่วนอื่นได้เเก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ธนาคารเเห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์เเละกระทรวงเเรงงาน เพื่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ทุกฝ่ายต้องอยู่ได้ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ฐานเศรษฐกิจของประเทศเเละดัชนีผู้บริโภค ซึ่งข้อสรุปจะเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้เเละประกาศใช้ภายในต้นปีหน้า
ส่วนข้อถามว่าจะขึ้นเงินเดือนเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่นั้น เบื้องต้นเป็นไปไม่ได้ เเต่วันนี้ก็ได้รับฟังเหตุผลที่คณะกรรมการสมานฉันท์คัดค้าน ก็จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดอีกครั้ง
ขณะที่นายสาวิทย์ กล่าวว่า ได้นำเสนอปัญหาเเละผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากันทั้งประเทศที่จะทำให้มีเเรงงานอพยพจำนวนมากเเละส่วนใหญ่ต้องมากระจุกตัวในบางพื้นที่เเละอยากให้พิจารณาจำนวนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม ไม่ใช่ขึ้นเเค่ 2-3 บาท ก็ไม่ทำให้ภาคเศรษฐกิจขยับตัวได้ดีขึ้น อีกทั้งได้สะท้อนกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการค่าจ้างกลางกับคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพราะที่ผ่านมาทำงานไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดปัญหาจึงควรปฏิรูปเเละตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติขึ้นมาเเทน เเละเมื่อได้พูดคุยกันต้องขอบคุณ รมว.เเรงงานที่มีความจริงจังในการเเก้ป้ญหา เเต่อยากเห็นความก้าวหน้าในการเเก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจากที่ได้พูดคุยในวันนี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย