กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – ปตท.ย้ำการเงินแกร่งพร้อมระดมทุน 2 ล้านล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า จากกำไรปีนี้ที่คาดว่าจะเกินแสนล้านบาท พร้อมตั้ง 3 สมมติฐานราคาน้ำมันปีหน้า เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์
นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท. กล่าว่า จากที่ปีนี้คาดว่า ปตท.จะมีกำไรเกิน 100,000 ล้านบาท นับเป็นกำไรระดับนี้เป็นปีที่ 3 หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อปี 2544 ซึ่งกำไรที่ดีขึ้นมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การดำเนินการของกลุ่ม ปตท.ที่มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนตามนโยบาย DO now และอีกส่วนมาจากสถานกาณ์ตลาดโลก โดยแม้ราคาน้ำมันปีนี้จะไม่ได้สูงกว่าปีที่แล้วมาก แต่จากการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่เกิดพายุทอร์นาโดในสหรัฐมีการปิดโรงกลั่น ก็ส่งผลให้มาร์จินของกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลายทั้งในส่วนโรงกลั่นฯ และปิโตรเคมีดีขึ้น
“ผลกำไรของ ปตท.ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาครัฐได้ผลปันผลและภาษีมากขึ้นไปด้วย เพราะถือหุ้นใน ปตท. โดยกระทรวงการคลังร้อยละ 51 และกองทุนรวมวายุภักษ์ ถือรวมอีกประมาณ ร้อยละ 15 ซึ่งหลังจากที่ ปตท.ปันผลแล้วประมาณร้อยละ 40 ก็ประเมินว่าจะส่งผลให้ศักยภาพการเงินทั้งจากกระแสเงินสดและความสามารถในการระดมทุนจะทำให้ 5 ปีข้างหน้ามีความสามารถรวม 200,000 ล้านบาท ทำให้กลุ่ม ปตท.มีเม็ดเงินในการลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่วนเม็ดเงินลงทุน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจะนำเสนอบอร์ด ปตท. วันที่ 22 ธันวาคมนี้” นางศรีวรรณ กล่าว
สำหรับปี 2561 ปตท.ตั้ง 3 สมมติฐานสำหรับราคาน้ำมันเพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินการ แม้ว่ากลุ่มโอเปกและนอกโอเปกจะจับมือลดกำลังผลิตต่อถึงสิ้นปี 2561 แบ่งออกเป็น 1.Fossil World การใช้น้ำมันยังเพิ่มขึ้น ส่วนกำลังผลิตยังมีน้อย เพราะผลจากราคาน้ำมันต่ำต่อเนื่องกว่า 2 ปีที่ผ่าน กำลังผลิตยังมีน้อย ดีมานด์/ ซัพพลายตึงตัว ส่งผลให้ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 60-62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล 2.Balancing World หรือ possible world เป็นกลไกของโลกที่สหรัฐอมริกาจะผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันจากหินดินดาน (shale oil ) ประกอบกับโลกมีน้ำมันสำรองจำนวนมาก หากผลิตออกมามากคาดว่าราคาน้ำมันปีหน้าจะใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่าจะปิดที่ 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปีหน้าคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 50-52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 3.Technology Breakthrough เป็นราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive technology เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ในส่วนนี้จะทำให้ ราคาน้ำมันต่ำระยะยาวได้ ราคาน้ำมันก็คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล/
นางศรีวรรณ กล่าวว่า ปตท.เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้ง 3 ผันผวนภายใต้นโยบาย PTT 3 D ได้แก่ 1.DO NOW ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ลดต้นทุน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีก็ได้ดำเนินการอยู่แล้วทำระยะสั้น 1-2 ปี เช่น โครงการ MAX ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) , EVEREST ของบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ,โครงการ SAVE to be SAFE บมจ. ปตท.สผ. และโครงการ Transcendent บมจ. ไทยออยล์ ขณะที่การลงทุนเหมืองถ่านหิน ก็ลดต้นทุได้ดี ประกอบกับราคาถ่านหินปีนี้ดีขึ้น ทำให้ผลประกอบการของ ปตท.ดีขึ้น
2.DECIDE NOW เป็นการมองระยะกลาง ซึ่งเป็นการมองหาโอกาสขยายการเติบโตและต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ต้องเร่งตัดสินใจลงทุนก่อนที่ระยะยาวโลกจะใช้ฟอสซิลน้อยลง เช่น โครงการขยายกำลังผลิตของไทยออยล์ที่เรียกว่า “กรีนด์ฟิลด์” โครงการเรโทรฟิตของพีทีทีจีซี โครงการแอลเอ็นจีทั้งในส่วนคลังต่าง ๆ ในประเทศของ ปตท. รวมถึงการลงทุนเกี่ยวเนื่องกับแอลเอ็นจีในต่างประเทศเป็นโครงการที่ตัดสินใจลงทุนบนความเก่งบนทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.DESIGN NOW เป็นการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ รองรับ DISRUPTIVE TECHNOLOGY ซึ่ง ปตท.ได้ปรับโครงสร้างมี CTO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี มีกลุ่มเอสเพรสโซ่ เพื่อดูเรื่องนี้โดยเฉพาะจะมีการร่วมลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของระบบกักเก็บพลังงาน หรือ ENERGY STORAGE จะมีพันธมิตรใหม่เพิ่มจากปัจจุบันลงทุนใน 24 M ของสหรัฐไปแล้ว รวมทั้งจะดูถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้าต่อยอดไปยังธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และมองถึงสมาร์ทซิตี้ว่าจะมีการพัฒนาโอกาสใหม่ได้อย่างไร
“ที่ลงทุนและเร่งหาโอกาสแน่ คือ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องแอลเอ็นจี เพราะโลกมีสำรองแยอะมากกระจายไปทุกทวีปทั่วโลก ไม่เหมือนน้ำมันที่กระจุกตัวในตะวันออกกลาง และก๊าซสามารถขนส่งทั้งรูปของเหลวและ ของแข็ง ปตท.สามารถจัดหามาป้อนความต้องการของไทยและทั่วโลก เรียกว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการจัดหาไม่เรียกว่ากระจายประเภทเชื้อเพลิง ทั้งเสริมความมั่นคงและ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยก๊าซธรรมชาติเป็นฟอสซิลที่เติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับน้ำมันและถ่านหิน ส่วนธุรกิจเกี่ยวเนื่องไฟฟ้าจะเป็น new s-curve เพราะเทคโนโลยีใหม่กำลังมา” นางศรีวรรณ กล่าว
นางศรีวรรณ กล่าวว่า โครงการแอลเอ็นจีใหญ่ที่สุดที่ กลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ.เข้าลงทุน คือ โครงการโมซัมบิก ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน ประกอบกับทวีปแอฟริกา เป็นฐานเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ทาง ปตท.ให้ความสำคัญ โดยจะนำประสบการณ์ที่ ปตท.ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาก๊าซฯ จากอ่าวไทยไปสร้างดำเนินการในแอฟริกา ซึ่งเป็นการมองโอกาสที่จะขยายการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย. -สำนักข่าวไทย