รัฐสภา 8 ม.ค.-อดีตปลัดคลัง วิจารย์ร่างงบ 67 ไม่ตรงปกที่หาเสียง ตั้งงบลงทุนน้อยไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ชี้ประเด็นธนาคารพาณิชย์มีกำไร ต้องสมดุลทั้งสถาบันการเงินและปชช.
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ วุฒิสมาชิก(สว.) และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมวุฒิสภา เกี่ยวกับการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายหาเสียงที่แถลงต่อรัฐสภาไว้ หลายนโยบายไม่ถูกบรรจุอยู่งบรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งการที่บอกว่ารัฐบาลมีเวลาทำจำกัด ถือเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นเหตุผล โดยหลักการรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลงบประมาณรายจ่ายเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาสังเกตเห็นรัฐบาลขยันทำงานมาก แต่ไม่ได้สนใจเรียบเรียงงบประมาณ
“เมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่า นอกจากไม่ได้นำนโยบายที่สำคัญมาบรรจุในร่างงบประมาณ ยังไม่มองในระยะปานกลางและระยะยาวที่จะพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยคือทำให้ไทยเป็นเทศพัฒนาแล้ว หรือพ้นจากประเทศรายได้กับดักปานกลาง ซึ่งหมายถึงประเทศไทยต้องมีเป้าหมายเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี จึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 แต่จากการประเมินคาดการณ์ในระยะปานกลางยังไม่ถึงร้อยละ 5 ด้วยซ้ำ” นายสถิตย์
นายสถิตย์ กล่าวว่า แม้ว่ารายจ่ายของงบประมาณจะกำหนดไว้ว่า ทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกร้อยละ 3.4 ต่อปีจนถึงปี 2570 ก็ตาม แต่ยังไม่เห็นนัยสำคัญที่ร่างงบประมาณเหล่านั้น จะทำให้โตได้ถึงร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อให้ไปถึงยุทธศาสตร์ชาติเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเมื่อดูจากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนของงบลงทุน รัฐบาลตั้งงบลงทุนไว้ที่ร้อยละ 20.6 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งพูดกันมาตลอดศักยภาพของประเทศไทยควรจะดีกว่านี้ แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในการขยายงบลงทุน อย่างน้อยให้แตะอย่างน้อยร้อยละ 25 ก็ยังดี
ส่วนที่งบลงทุนน้อย นายสถิตย์ กล่าวว่า ภาครัฐจะไม่สามารถขยายการเติบโตได้แล้ว การเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนมีแรงจุงใจน้อยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจได้รับการกระตุ้น ขยายการเติบโตก็น้อยลง จึงต้องมีงบลงทุนมากขึ้น นอกจากนั้นงบประมาณที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นเกี่ยวกับถนนหนทางเป็นหลัก ซึ่งเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ จึงต้องสร้างความสมดุลของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ด้วยระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวทันโลกปัจจุบัน แล้วสามารถอยู่ในอนาคตได้
เมื่อถามว่ามีงบอะไรที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ นายสถิตย์ กล่าวว่า งบที่น่าสังเกตคืองบกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพราะประเทศไทยตั้งแต่เดิมแล้ว เมืองไทยคือ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาเป็น 15 จังหวัด ปรากฏว่า 15 จังหวัดของประเทศไทย ปัจจุบัน กระจุกความเจริญร้อยละ 70 จังหวัดที่เหลือเพียงร้อยละ 30 ดังนั้น จึงต้องกระจายความเจริญเติบโตไปจังหวัดอื่นโดยด่วน ทั้งงบส่วนกลางและงบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดันความเจริญออกไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ความเจริญเติบโตกระจายไปยังจังหวัดที่เจริญน้อยอยู่ โดยต้องรื้อโครงสร้างการขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ
ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ แต่ธนาคารกลับได้กำไร นายสถิตย์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลการเติบโตสถาบันการเงิน การได้รับบริการที่เป็นธรรมให้กับตนเองและผู้บริโภค หากผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น การแข่งขันของธนาคารจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์
“การจะทำให้การแข่งขันของสถาบันการเงินเข้มข้นขึ้น นอกจากเปิดโอกาสให้มีสถาบันการเงินมากขึ้นแล้ว จำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ สนองตอบการให้บริการประชาชนมากขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นอย่างเป็นธรรม การที่มีหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กำไรสถาบันการเงิน คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความเป็นธรรมกับสถาบันการเงินและผู้บริโภค” นายสถิตย์ กล่าว.-318.-สำนักข่าวไทย